วันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2558

พระเจ้าตากสิน

พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช


พระราชปณิธาน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

อันตัวพ่อชื่อว่าพระยาตากทนทุกข์ยากกู้ชาติพระศาสนา
ถวายแผ่นดินให้เป็นพุทธบูชาแด่พระศาสดาสมณะพระพุทธโคดม
ให้ยืนยงคงถ้วนห้าพันปีสมณะพราหมณ์ชีปฏิบัติให้พอสม
เจริญสมถะวิปัสนาพ่อชื่นชมถวายบังคมรอยพระบาทพระศาสดา
คิดถึงพ่อพ่ออยู่คู่กับเจ้าชาติของเราคงอยู่คู่พระศาสนา
พุทธศาสนาอยู่ยงคู่องค์กษัตราพระศาสดาฝากไว้ให้คู่กัน

            

                สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงมีพระนามเดิมว่า “สิน” (ชื่อจีนเรียกว่า เซิ้นเซิ้นซิน) พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๒๗๗ พระราชบิดาเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว ชื่อ นายไหฮองได้สมรสกับหญิงไทยชื่อนางนกเอี้ยงในช่วงรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (สมเด็จพระธรรมราชาธิราชที่ ๓)  ซึ่งเจ้าพระยาจักรีได้ขอไปอุปการะเป็นบุตรบุญธรรมตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย ครั้นอายุ ๕ ปี เจ้าพระยาจักรีได้นำไปฝากเรียนกับพระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส (วัดคลัง) ทรงศึกษาหนังสือขอมและหนังสือไทยจนจบบริบูรณ์ ตลอดจนศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉาน ต่อมาเมื่ออายุครบ ๑๓ ปี เจ้าพระยาจักรีได้นำตัวเด็กชายสิน ไปถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศและได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทำราชการกับหลวงศักดิ์นายเวร ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าพระยาจักรี เมื่อมีเวลาว่างจะศึกษาหาความรู้ กับอาจารย์ชาวจีน อาจารย์ชาวญวน และ อาจารย์ชาวแขก จนเชี่ยวชาญและสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่วทั้ง 3 ภาษา
ครั้นเมื่ออายุครบ ๒๑ ปี ได้อุปสมบท ณ วัดโกษาวาส ทรงดำรงอยู่ในสมณเพศได้ ๓ พรรษา จึงลาสิกขา และกลับมารับราชการตามเดิม ด้วยความฉลาด รอบรู้ขนบธรรมเนียมตลอดจนภารกิจต่างๆ อย่างดี สามารถทำงานต่างพระเนตรพระกรรณได้ จนได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นมหาดเล็ก รายงานราชการทั้งหลายในกรมมหาดไทย และ กรมวังศาลหลวง
ครั้น พ.ศ. ๒๓๐๑ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพรเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ ๓ เดือนเศษ ก็ถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเชษฐาธิราช สมเด็จพระบรมราชาที่ ๓” (สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์) สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นายสินมหาดเล็กรายงาน เป็นข้าหลวงเชิญท้องตราพระราชสีห์ไปชำระความที่หัวเมืองฝ่ายเหนือ ซึ่งปฏิบัติราชการได้รับความดีความชอบมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหลวงยกกระบัตร เมืองตาก ช่วยราชการพระยาตาก ครั้นพระยาตากถึงแก่กรรม ก็ทรงโปรดให้เลื่อนเป็น “พระยาตาก ปกครองเมืองตาก
ในปี พ.ศ. ๒๓๐๗ พม่ายกกองทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ของไทย โดยมีมังมหานรธาเป็นแม่ทัพ เมืองทางใต้ได้อย่างง่ายดาย ตีเรื่อยตลอดหัวเมืองทางใต้จนถึงเมืองเพชรบุรี จนกรุงศรีอยุธยาได้ส่งกองทัพไทย มีพระยาโกษาธิบดีกับพระยาตากไปรักษาเมืองเพชรบุรีไว้ จนตีพม่าแตกถอยไปทางด่านสิงขร
ต่อมาปี พ.ศ. ๒๓๐๘ พม่ายกกองทัพมาตีไทยอีก พระยาตากได้มาช่วยรักษาพระนครไว้ได้ จึงได้ปูนบำเหน็จความดีความชอบ ได้รับโปรดเกล้าให้เลื่อนเป็น “พระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร แต่ยังไม่ทันได้ปกครองเมืองกำแพงเพชร ก็เกิดศึกกับพม่าครั้งสำคัญ จึงถูกเรียกตัวให้เข้ารับราชการในกรุง เพื่อป้องกันพระนคร จนถึงปี พ.ศ. ๒๓๐๙ ขณะที่ไทยกับพม่ากำลังรบกันอย่างดุเดือด พระยาวชิรปราการ เกิดท้อแท้ใจหลายประการคือ

๑.      พระยาวชิรปราการ คุมทหารออกไปรบนอกเมืองจนได้ชัยชนะยึดค่ายพม่าได้ แต่ทางผู้รักษาพระนครไม่ส่งกำลังไปหนุน ทำให้พม่าสามารถยึดค่ายกลับคืนได้
๒.    ขณะที่ยกทัพเรือออกรบร่วมกับพระยาเพชรบุรี พระยาวชิรปราการ เห็นว่าพม่ามีกำลังมากกว่าจึงห้ามมิให้พระยาเพชรบุรีออกรบ แต่พระยาเพชรบุรี ฝืนออกรบ จนพ่ายแพ้แก่พม่าจนตัวตายในสนามรบ พระยาวชิรปราการ ถูกกล่าวหาว่าทอดทิ้งให้พระยาเพชรบุรีเป็นอันตราย
๓.     ก่อนเสียกรุง ๓ เดือน พม่ายกทัพเข้าปล้นพระนคร ทางด้านที่พระยาวชิรปราการรักษาอยู่ เห็นจวนตัว จึงยิงปืนใหญ่ขัดขวาง โดยมิได้ขออนุญาตจากศาลาลูกขุน จึงถูกฟ้องชำระโทษภาคทัณฑ์
ด้วยสาเหตุดังกล่าว พระยาวชิรปราการเห็นว่าขืนอยู่ช่วยป้องกันพระนครต่อไป ก็ไม่มีประโยชน์อันใด และเชื่อว่ากรุงศรีอยุธยาต้องเสียแก่พม่าในครั้งนี้เป็นแน่ ดังนั้นในช่วงพลบค่ำวันเสาร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ อัฐศก (พ.ศ. 2309 ) พระยาวชิรปราการได้พาเหล่าทหารเอกคือ พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงพิชัยราชา (ต่อมาเป็นพระพิชัยดาบหัก) หลวงราชเสน่หา ขุนอภัยภักดี พร้อมสมัครพรรคพวกประมาณ ๕๐๐ นาย ตีฝ่าวงล้อมออกจากค่ายพิชัยมุ่งออกไปจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตีออกมาทางบ้านหันตรา (ทุ่งหัตรา อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปัจจุบัน) กองทัพพม่าบางส่วนได้ไล่ติดตามมาทันที่บ้านข้าวเม่า บ้านส้มบัณฑิต (ในเขตอำเภออุทัย) และต่อสู้กันจนถึงเที่ยงคืนพม่าก็ถอยทัพกลับไป พระยาวชิรปราการจึงพากองกำลังเข้าเลียบชายทะเลด้านตะวันออกเพื่อเกลี้ยกล่อมชาวบ้านให้เข้าร่วมในกองกำลังเข้าโจมตี และผ่านมาที่บ้านนาเริง (เขตอำเภอบ้านนา) แขวงเมืองนครนายก ข้ามแม่น้ำมาที่บ้าน กงแจะ ด่านเมืองปราจีนบุรี พวกพม่าทราบข่าวได้ตั้งกำลังต่อต้านอยู่ที่ ปากน้ำเจ้าโล้ (ไหลลงแม่น้ำบางประกง อำเภอบางคล้า) แขวงเมืองฉะเชิงเทรา จึงเกิดการปะทะกันทั้งสองฝ่ายในวันอังคาร ขึ้น 14 ค้ำ เดือนยี่ ปีจอ อัฐศก (พ.ศ. 2309)

หลังจากพระยาวชิรปราการได้รับชัยชนะที่ปากน้ำเจ้าโล้แล้ว ได้เดินทางมาทางบ้านหัวทองหลาง สะพานทอง (อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี) ล่วงเข้ามาในเมืองชลบุรี บริเวณบ้านบางปลาสร้อย และเดินทัพมายังบ้านนาเกลือ แขวงเมืองบางละมุง นายกลม (หรือฉบับพระราชหัตถเลขาชื่อว่า นายกล่ำ) เป็นนายซ่องสุมไพร่พลหัวหน้า ต่อมาในวันอาทิตย์ แรม 6 ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ อัฐศก (พ.ศ. 2309) นายกลมได้นำกำลังของพระยาวชิรปราการมาค้างแรมที่ “ทัพพระยา” (บางฉบับเรียกว่าพัทยา) รุ่งขึ้นไปที่บ้านนาจอมเทียน ทุ่งไก่เตี้ย สัตหีบ ประทับแรมหนึ่งคืน แล้วเดินทัพตามชายทะเลไปถึงตำบลหิงโขง และบ้านน้ำเก่า แขวงเมืองระยอง เมื่อถึงเมืองระยอง มีพระยาระยอง (บุญเมือง) เป็นเจ้าเมือง ไม่ยอมสวามิภักดิ์ พระยาวชิรปราการ จึงทำการตีเมืองระยองได้ และปะทะกับกลุ่มของขุนรามหมื่นซ่องที่บ้านประแส แขวงเมืองจันทบูร บ้านไร่ บ้านกล่ำเมืองแกลง จนได้รับชัยชนะ มุ่งหน้ายึดจันทบุรีซึ่งเป็นเมืองใหญ่เพื่อใช้เป็นฐานที่มั่น เจ้าเมืองจันทบุรีมิยอมสวามิภักดิ์ พระยาตาก (พระยาวชิรปราการ) จึงต้องใช้จิตวิทยาในด้านการรบมาใช้กับแม่ทัพนายกอง ฟื้นฟูขวัญกำลังใจของไพร่พล เพื่อต้องการรบให้ชนะ โดยสั่งให้ทุบ หม้อข้าวหม้อแกง พร้อมเปล่งวาจา

เราจะตีเมืองจันทบุรีในค่ำวันนี้ เมื่อกองทัพหุงข้าวเย็นกินเสร็จแล้ว ทั้งนายไพร่ให้เททิ้งอาหารที่เหลือและต่อยหม้อเสียให้หมดหมายไปกินข้าวเช้าด้วยกันที่ในเมืองเอาพรุ่งนี้ ถ้าตีเอาเมืองไม่ได้ในค่ำวันนี้ก็จะตายเสียด้วยกันให้หมดทีเดียว

ครั้นถึงเวลาค่ำ พระยาตากจึงได้สั่งให้ทหารไทยจีนลอบเข้าไปอยู่ ตามสถานที่ที่ได้วางแผนไว้แล้วให้คอยฟังสัญญาณเข้าตีเข้าเมืองพร้อมกัน มิให้ส่งเสียงจนกว่าจะเข้าเมืองได้ พอได้ฤกษ์เวลา 3 นาฬิกา พระเจ้าตากก็ขึ้นคอช้างพังคีรีบัญชรพร้อมยิงปืนสัญญาณ แจ้งแก่เหล่าทหารเข้าตีเมืองพร้อมกัน ทรงไสช้างเข้าพังประตูเมือง จนยึดเมืองได้สำเร็จ
ครั้นถึง พ.ศ. ๒๓๑๐ พม่าก็ยกทัพตีพระนคร นับเป็นเวลาที่พม่าล้อมค่ายอยู่ถึง ๑ ปี ๒ เดือน  กรุงศรีอยุธยาจึงเสียแก่พม่า ในรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ ถือเป็นพระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา
หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว บ้านเมืองเกิดแตกแยก หัวเมืองต่างๆ ตั้งตัวเป็นใหญ่ต่างคนต่างรวมสมัครพรรคพวกตั้งเป็นก๊กต่างๆ ได้แก่ ก๊กสุกี้พระนายกอง ก๊กพระยาพิษณุโลก ก๊กพระเจ้าฝาง ก๊กเจ้าพระยานครศรีธรรมราช และก๊กเจ้าพิมาย พระยาวชิรปราการได้จัดเตรียมกองทัพอยู่เป็นเวลา ๓ เดือน ก็ยกกองทัพเรือเข้ามาทางปากน้ำเจ้าพระยา จนตีเมืองธนบุรีแตก จับนายทองอินประหาร แล้วเลยไปตีค่ายโพธิ์สามต้น แตกยับเยิน สุกี้พระนายกองตายในที่รบ ขับไล่พม่าออกไปพ้นแผ่นดินไทยสำเร็จ ในปี พ.ศ.๒๓๑๐ ซึ่งใช้เวลากู้อิสรภาพกลับคืนจากพม่า ภายในเวลา ๗ เดือนเท่านั้น
จากนั้น พระยาตาก (พระยาวชิรปราการ) จึงยกทัพกลับมากรุงธนบุรี ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๑๑ ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔แต่ประชาชนนิยมเรียกพระนามว่า พระเจ้าตากสิน จากนั้นทรงยกกองทัพไปปราบปรามก๊กต่างๆ จนราบคาบ ทรงใช้เวลารวบรวมอาณาเขตอยู่ ๓ ปี คือตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๑๑ – พ.ศ. ๒๓๑๓ จนกอบกู้เอกราช รวมเป็นพระราชอาณาจักรเดียวดังเดิม

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงครองราชย์เป็นเวลา ๑๕ ปี จึงทรงสวรรคตเมื่อ วันเสาร์ เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ จศ. 1144 ปีขาล ตรงกับวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ สิริพระชนมายุได้ ๔๘ พรรษา พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถ กอบกู้ประเทศชาติให้เป็นเอกราชอิสรภาพตราบเท่าทุกวันนี้
ประชาราษร์ผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ทรงยกย่องถวายพระเกียรติพระองค์ท่านว่า “มหาราช รัฐบาล ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พ่อค้า ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ บริเวณหน้า “ศาลาว่าการเมืองพัทยา” เพื่อน้อมรำลึกในพระเกียรติประวัติ เกียรติยศและเกียรติคุณให้ปรากฏกับอนุชนรุ่นหลังตราบเท่าทุกวันนี้

คาถาบูชาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธธัสสะ (3จบ)
โอมสิโน ราชาเทวะ นะมามิหัง ชะยะ ตุภะวัง สัพพะ ศัตรูวินาส สันติ(3-9จบ)

ชาติกำเนิด
'สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช'ท่านเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งที่ประกอบวีรกรรมในการกู้ชาติบ้านเมืองเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่๒ พ.ศ.๒๓๑๐ หากวันนั้นแผ่นดินนี้ไม่มีพระองค์ก็คง'ไม่มีประเทศไทย''ไม่มี'กรุงเทพฯ''ไม่มีธนบุรี'และไม่มีแม้แต่คำว่า'คนไทย'หรือ'ชนชาติไทย'ปรากฏให้เห็น ความภาคภูมิใจในเรื่องราวอันยาวนานของชนชาติไทยคงสูญสิ้นไปนับแต่นั้น และคงจะไปปรากฏในพงศาวดารของพม่าซึ่งคงบันทึกไว้ว่า'ชาวไทยเป็นชนกลุ่มน้อย'อาศัยอยู่หนาแน่นในภาคตะวันออกของประเทศเช่นเดียวกับกระเหรี่ยงและมอญ
              แต่พระราชประวัติของพระองค์กลับไม่เคยกระจ่างชัดในเรื่องชาติกำเนิด ซึ่งเราถูกสอนมาว่า'พ่อเป็นจีน ชื่อไหฮอง เป็นนายอากรบ่อนเบี้ย มีพระยาจักรีบ้านโรงฆ้องนำไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม'จนเราจดจำข้อความนี้ได้ขึ้นใจ โดยชาติกำเนิดดังกล่าวนั้นคัดลอกมาจากหนังสือ 'อภินิหารบรรพบุรุษ'ของ ก.ศ.ร.กุหลาบนักแต่งประวัติศาสตร์ในช่วงรัฐสมัยพระพุทธเจ้าหลวง โดยเริ่มแต่งครั้งแรกเป็นตอนๆลงในหนังสือสยามประเภทเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๒ ในชื่อเรื่องว่า'อภนิหารประจักษ์แห่งพระเจ้ากรุงธนบุรีศรีอยุธยา'ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๓ จึงพิมพ์เป็นเล่มในชื่อเรื่องว่า'หนังสือพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตาก(สิน) ซึ่งต่อมาคือต้นฉบับของหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษที่เราอ้างถึง

         แต่เมื่อเราดูบันทึกประวัติศาสตร์ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หลังจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระประสูติกาลได้ห้าเดือน เราก็กังขาถึงความเป็นไปได้ เพราะครั้งนั้นเกิดกรณี 'กบฏ จีนก่าย'เป็นเหตุให้ชาวจีนในพระนครที่เป็นชนชั้นหัวหน้าถูกประหารหมดสิ้นนอกนั้นจะถูกจำคุกและถูกส่งไปเป็นตะพุนหญ้าช้าง ทำให้เรามั่นใจได้ว่าหากพระองค์มีพระบิดาเป็นชาวจีน พระยาจักรีคงไม่กล้าอุปการะพระองค์ แม้ในฐานะ'ทาสในเรือนเบี้ยพระองค์คงถูกส่งไปเป็น'ตะพุนหญ้าช้าง'เท่านั้น กรณีที่'พระยาจักรี'นำพระองค์ไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมนั้น'พระยาจักรีคงไม่กล้าแม้แต่จะคิด เพราะการต้องโทษ'กบฏ'ในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนั้นมีโทษสถานเดียวคือ'ประหารชีวิต'
                 
                และกว่าพระองค์จะมีชื่อว่า'สิน'ตามหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษนั้นพระองค์มีชื่อปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐานก่อนแล้วสองชื่อคือ'จีนเจ้ง'และ'พระเจ้าตาก'โดยชื่อ'จีนเจ้ง'เริ่มปรากฏในปี พ.ศ.๒๓๓๘ เมื่อสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเป็นประธานชำระพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)ว่า'...เดิมชื่อจีนเจ้ง ซึ่งเป็นพ่อค้าเกวียน มีความชอบในแผ่นดิน ได้ไปเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอยู่ ณ เมืองตาก...(*๑)'และชื่อต่อมาคือ'พระเจ้าตาก'ปรากฏในสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๔ เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์พงศาวดารสยามฉบับย่อ(Brief History of Siam)พระราชทานให้เซอร์จอห์นเบาว์ริง พระองค์ทรงอธิบายถึงความไม่ชอบธรรมในการเป็นพระเจ้าแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไว้ว่า“...พวกข้าราชการหลายคนจากครั้งกรุงศรีอยุธยาไม่เต็มใจที่จะเข้าเฝ้าถวายตัวต่อ'พระเจ้าตาก'ทั้งหมดมีใจโอนเอียงไปข้างแม่ทัพผู้พี่และยิ่งกว่านั้นพวกเขาซึ่งมีใจอคติต่อพระเจ้าตากในเรื่องที่ว่าทรงมีเชื้อสายจีนได้พากันมองท่านแม่ทัพผู้พี่ควรมีฐานันดรสูงกว่าพระองค์เสียอีกพวกผู้ดีเก่าเหล่านี้ได้ชุมนุมกันเป็นข้ารับใช้ในเรือนส่วนตัวของท่านแม่ทัพโดยมิให้ผิดสังเกต...(*๒)

               นอกจากนั้นยังมีหลักฐานหรือเอกสารจากต่างประเทศที่กล่าวถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีปรากฏให้เห็นอย่างน้อยสองประเทศ เริ่มจากประเทศสาธารณประชาชนจีนที่มีสุสานบรรจุฉลองพระองค์ ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตั้งอยู่ที่อำเภอเถ่งไฮ่ มณฑลกวางตุ้ง โดยมีตำนานท้องถิ่นระบุว่าสุสานแห่งนี้เป็นสุสานเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเฉียนหลงฮ่องเต้ (พ.ศ. ๒๒๗๘-๒๓๓๙มีป้ายหินจารึกไว้ว่าสุสานของแต้อ๊วงทำการบูรณะซ่อมแซมใหม่ในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. ๑๙๘๕(พ.ศ.๒๕๒๘...(*๓)

                   หลักฐานทั้งหมดที่กล่าวมานั้นล้วนระบุว่าพระองค์มีพระราชบิดาเป็น'ชาวจีนแต่มีหนังสือเล่มหนึ่งกล่าวถึงพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแตกต่างจากหลักฐานอื่น เป็นหนังสือที่ตีพิมพ์ในฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ.1772หรือพ.ศ.๒๓๑๔ ขณะที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบดาภิเศกได้๔ปีหนังสือนั้นมีชื่อว่าประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาฉบับตุรแปงเขียนโดยนาย'ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง' ชาวฝรั่งเศส โดยรวบรวมเรื่องราวจากบันทึกของบาทหลวงตาชารด์ชาวฝรั่งเศสที่ได้บันทึกไว้ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงรัฐสมัยของพระองค์

                หนังสือนั้นได้บรรยายเหตุการณ์ตอนเสียกรุงศรีอยุธยาไว้มากมายอาทิ'...พวกพม่าได้ใช้ไฟลนฝ่าเท้าของพวกสยามเพื่อจะให้พวกสยามเปิดเผยที่ซ่อนทรัพย์สินและทำการข่มขืนลูกสาวที่กำลังร่ำไห้ต่อหน้าต่อตาพวกเขา พระสงฆ์ซึ่งถูกสงสัยว่าปิดบังทรัพย์สินจำนวนมากถูกหอกซัดและถูกธนูยิงจนพรุน คนอื่นๆจำนวนมากก็ถูกตีจนตายด้วยกระบอง...(*๔)'และหนังสือนั้นได้กล่าวถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อครั้งรวบรวมผู้คนไว้ว่า'...ประชาชนมุ่งมั่นไปที่พระยาตากขุนนางสยามซึ่งมารดาเป็นชาวจีนท่านเป็นทั้งนักการเมืองและนักรบ ท่าน ปูทางที่จะไปสู่ความยิ่งใหญ่ของท่านด้วยการเรียกร้องความสงสารและความเห็นใจ ท่านได้รับเลือกเป็นหัวหน้าโดยเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนทั้งหมดครั้งแรกท่านได้ใช้นามแฝงว่า'ผู้กู้ชาติ'และแอบแฝงความสูงศักดิ์ โดยการใช้เครื่องนุ่งห่มตามปรกติ ท่านปรารถนาที่จะทำตัวเป็นเพียงประชาชนคนหนึ่งเท่านั้น เพื่อที่จะเป็นผู้ปกครองประเทศที่แท้จริงต่อไป...(*๕)สุดท้ายพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นเช่นไรกันแน่

               และเพื่อทราบถึงพระราชประวัติที่แท้จริงของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระผู้เป็นมหาราชกู้ชาติไทย สมเด็จพระเอกาทศรสพระองค์ที่๖ หรือที่พวกเราคุ้นกับพระนาม'สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช'ข้าพเจ้าจึงขอเสนองานค้นคว้าครั้งนี้เพื่อให้ทุกท่านได้พิจารณา

หมายเหตุ

                ข้อเขียนนี้ค้นคว้าจากข้อมูลที่ถูกมองข้ามจากนักประวัติศาสตร์เพื่อให้เป็นมุมมองใหม่โดยมีเจตนาเพื่อการศึกษาเท่านั้นเพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตนั้นพวกเราเกิดไม่ทันจึงสมควรเรียนรู้ไว้เพื่อประกอบการศึกษาวิถีชีวิตของผู้คนในอดีตห้ามนำไปอ้างอิงใดๆอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชาติบ้านเมืองหรือสังคมโดยรวม



 รูปพระเจ้าอยูหัวบรมโกศ

ศึกสายเลือดรัชสมัยพระเจ้าบรมโกศ(สมเด็จพระบรมราชาที่ ๓)
              พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น ที่ถือเป็นข้อยุติเรื่องแรกคือพระองค์ทรงพระราชสมภพเมื่อต้นแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จะมีข้อโต้แย้งอยู่บ้างก็เฉพาะในเรื่องวันที่และเดือนเกิดเท่านั้น และเมื่อรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเป็นปฐม เราจึงควรต้องรับทราบถึงความวุ่นวายของศึกสายเลือดในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศตั้งแต่ก่อนครองราชย์สมบัติจนสิ้นพระชนม์โดยละเอียด เพราะเหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดเรื่องชาติกำเนิดของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้เป็นอย่างดี

             พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ(เจ้าฟ้าพร-สมเด็จพระบรมราชาที่ ๓)เป็นพระอนุชาของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ(เจ้าฟ้าเพชร-สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๙)และทั้งสองพระองค์เป็นพระราชโอรสของ'พระเจ้าเสือ'เป็นหลานปู่ของ'พระเพทราชาปฐมกบัตริย์แห่งราชวงค์'บ้านพลูหลวง' โดยเมื่อครั้งพระเจ้าเสือสมเด็จพระบิดาของเจ้าฟ้าเพชร-เจ้าฟ้าพร ได้สวรรคตลงนั้น'เจ้าฟ้าเพชร'(พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ)ได้ขึ้นเสวยราชย์สมบัติจึงโปรดให้'เจ้าฟ้าพร'พระอนุชา เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล(วังหน้า)และมีข้อตกลงว่า เมื่อสิ้นแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ กรมพระราชวังบวร(เจ้าฟ้าพร)จะเสวยราชย์สมบัติสืบต่อจากพระเจ้าท้ายสระ
 
             แต่เมื่อปลายรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระเกิดเปลี่ยนพระทัย จะมอบราชสมบัติให้พระราชโอรสพระองค์ใหญ่คือเจ้าฟ้านเรนทร(มีเจ้าฟ้าอภัยเป็นพระราชโอรสองค์ที่๒.และ.เจ้าฟ้าปรเมศร์ เป็นพระราชโอรสองค์ที่๓.)แต่เจ้าฟ้านเรนทรไม่ทรงเห็นชอบด้วยเนื่องจากพระมหาอุปราช(เจ้าฟ้าพร)ก็ยังคงมีพระชนม์อยู่และทรงดำรงตำแหน่งที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล สมควรมอบราชสมบัติตามข้อตกลงเดิม พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระไม่ยินยอม เจ้าฟ้านเรนทรจึงออกผนวช สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระจึงยกราชสมบัติให้เจ้าฟ้าอภัยโอรสองค์ที่๒.สืบราชสันตติวงศ์ต่อ แต่สมเด็จพระมหาอุปราชไม่ทรงยินยอมโดยทรงยืนยันว่าหากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระประสงค์จะให้พระราชโอรสของพระองค์สืบต่อราชสมบัติแห่งกรุงศรีอยุธยาสมควรที่จะเป็น เจ้าฟ้านเรนทรพระราชโอรสองค์ใหญ่ที่ทรงผนวชอยู่เท่านั้น '....ฝ่ายเจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ไม่ยอม ก็หาลาพระผนวชออกไม่ (*๑)'สรุปคือเจ้าฟ้านเรนทรไม่ยอมเป็นกษัตริย์และไม่ยอมลาสิกขาบท

             ขณะที่ยังไม่มีข้อยุติและสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงพระประชวรหนัก “เจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์และขุนนางฝ่ายวังหลวงที่เกรงจะสูญเสียอำนาจได้จัดเตรียมกองทัพตั้งค่ายไว้หน้าวังเพื่อเตรียมที่จะรบกับกรมพระราชวังบวรฯ(เจ้าฟ้าพร)เหตุการณ์ในครั้งนี้สร้างความไม่พอใจให้กับกรมพระราชวังบวรฯเป็นอย่างมากจึงนำไปสู่การเปิดศึกกลางเมืองระหว่างวังหน้า(อา)และวังหลวง(หลาน)หรือศึกสายเลือดครั้งที่๑.ขึ้น ฝ่ายวังหลวง(หลาน)มีพระธนบุรีเป็นแม่ทัพผู้มีความสามารถรบชนะแม่ทัพฝ่ายวังหน้า(อา)มาหลายคน ทัพวังหน้าระส่ำระสายอย่างหนักโดยกรมพระราชวังบวรฯแม่ทัพฝ่ายวังหน้า(อา)ก็เตรียมที่จะหลบหนีเพราะคิดว่าสู้ทัพฝ่ายวังหลวง(หลาน)ไม่ได้ ขณะนั้นขุนชำนาญชาญณรงค์ทหารคนสนิทของ'เจ้าฟ้าพร'(วังหน้า)ได้อาสาออกรบกับพระธนบุรีแม่ทัพผู้เก่งกาจของฝ่ายวังหลวงและแจ้งแก่วังหน้าว่า..'...หากตนเองพ่ายแพ้ถึงตอนนั้นจะหนีก็ยังไม่สาย...(*๒)'ขุนชำนาญฯยอดนักรบของฝ่ายวังหน้าถือดาบสองมือขึ้นม้านำทหารออกรบกับพระธนบุรี พระธนบุรีก็หาเกรงกลัวไม่ จึงชักม้ามารบกับขุนชำนาญฯ รุกรบต่อตีกันเป็นสามารถท้ายที่สุดขุนชำนาญฯใช้ดาบสองมือฟันพระธนบุรีตายบนหลังม้า ทหารฝ่ายวังหน้าได้ใจจึงโห่ร้องต่อตีทัพวังหลวงที่กำลังเสียขวัญแตกพ่ายไปจนทุกทิศทาง'เจ้าฟ้าพร'(วังหน้า)จึงเป็นฝ่ายชนะและเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓(สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) หลังจากนั้นพระองค์มีพระราชดำรัสให้นำตัวเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ตามโบราณราชประเพณี

            ลุศักราชได้ ๑๐๙๖  ปีฉลู เบญจศก ณ เดือน ๕ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงกระทำการพิธีปราบดาภิเศก ณ พระที่นั่งวิมานรัตยาในพระราชวังบวรสถานฝ่ายหน้านั้นสืบต่อไป'...จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ขุนชำนาญชาญณรงค์เป็นเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ว่าที่โกษาธิบดีหลวงจ่าแสนยากรเป็นเจ้าพระยาอภัยมนตรี ว่าที่จักรี(สมุหนายก)พระยาราชภักดีผู้ว่าที่ สมุหนายกเดิมนั้นว่าที่สมุหกลาโหมแล้วโปรดเกล้าให้พระพันวัสสาใหญ่เป็นกรมหลวงอภัยนุชิต ให้พระพันวัสสาน้อยเป็นกรมหลวงพิพิธมนตรี......(*๓)ส่วนเจ้าฟ้านเรนทรพระราชโอรสของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระที่มิยอมลาสิกขามาเป็นกษัตริย์นั้นดำรงเพศบรรพชิตตลอดมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงทรงสถาปนาให้ทรงกรมที่ กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์(เจ้าพระฯ)

            สำหรับพระพันวัสสาทั้งสองพระองค์นี้เป็นพี่น้องกันคือเป็นบุตรีของเจ้าพระยาบำเรอภูธรในรัชสมัย'พระเพทราชา' มีพระมารดาเป็นเชื้อตระกูลพราหมณ์ชาวเมืองเพชรบุรี(บ้านสมอปรือ)โดยพระพันวัสสาใหญ่ทรงมีพระราชธิดา๖พระองค์ มีพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียวคือ'เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร'หรือ'กรมขุนเสนาพิทักษ์'ส่วนพระพันวัสสาน้อยมีพระราชธิดา๖พระองค์และพระราชโอรส๒พระองค์คือ'เจ้าฟ้าเอกทัศน์'หรือ'กรมขุนอนุรักษ์มนตรี'พระราชโอรสพระองค์ที่๔.และ'เจ้าฟ้าดอกเดื่อ'หรือ'กรมขุนพรพินิต'พระราชโอรสพระองค์ที่๘. นอกจากนั้นพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศยังมีพระราชโอรสที่เกิดแต่พระสนมอื่นอีกหลายพระองค์ที่สำคัญคือ กรมหมื่นเทพพิพิธ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดีโดยกรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดี จับกลุ่มรวมตัวกันเหนียวแน่น จนเรียกกันว่า'เจ้าสามกรม'

            นับแต่ปราบดาภิเศก'เจ้าพระฯ'(กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์)ทรงสนิทกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเป็นอย่างยิ่งจนทำให้ 'เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร'(กรมขุนเสนาพิทักษ์)พระโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเกิดความระแวงและวางแผนลอบทำร้าย'เจ้าพระฯ'อยู่ตลอดเวลาเพราะเกรงว่าพระราชบิดาจะมอบราชสมบัติคืนให้'เจ้าพระฯ'ทั้งที่พระองค์เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่มีสิทธิโดยชอบธรรมในราชสมบัติ.

              ในปีพ.ศ. ๒๒๗๘พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศขณะทำการปฏิสังขรณ์พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาทซึ่งเก่าแก่ชำรุดทรุดโทรม ในปีนั้นก็ทรงพระประชวร ฝ่ายเจ้าพระฯซึ่งทรงผนวชอยู่ ณ วัดยอดเกาะ ก็เสด็จเข้ามาจำพรรษา ณ วัดโคกแสงภายในพระนครและเข้าไปเยี่ยมเยือนสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอันทรงพระประชวรอยู่ ณ พระราชวังหน้านั้นเนืองๆ(พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแม้เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วก็ยังประทับอยู่ที่วังหน้ามิได้ย้ายไปวังหลวง)'....อยู่มาวันหนึ่งเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร(สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมขุนเสนาพิทักษ์)ตรัสใช้ให้พระองค์เจ้าชื่น พระองค์เจ้าเกิดซึ่งเป็นพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ออกไปทูลลวงเจ้าพระฯว่ามีพระราชโองการให้นิมนต์เข้าไปในพระราชวังหน้าในเพลาราตรีเจ้าพระฯสำคัญว่าจริงก็เสด็จเข้าไปในพระราชวังขึ้นไปบนหน้าพระชัยเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรแอบข้างพระทวารคอยอยู่ เอาพระแสงดาบฟันเอาเจ้าพระฯหาเข้าไม่เพราะมีวิชาการดีถูกแต่ผ้าจีวรขาดเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรกลัวพระราชอาญาวิ่งเข้าไปข้างในตำหนักพระราชมารดา...(*๔)'

             '....ฝ่ายเจ้าพระฯก็เสด็จเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวฯ ๆได้ทอดพระเนตรเห็นจึงตรัสถามว่าเหตุไฉนผ้าจีวรจึงขาดเจ้าพระฯถวายพระพรว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรหล่อนหยอก ครั้นเจ้าพระฯถวายพระพรลาออกมาแล้ว พระพันวัสสาใหญ่กรมหลวงอภัยนุชิต(พระราชมารดาของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร)จึงเสด็จมาอ้อนวอนว่า ถ้าพ่อมิช่วยก็เห็นจะตายเจ้าพระฯจึงตรัสว่าจะช่วยได้ก็แต่กาสาวพัสต์อันเป็นธงชัยพระอรหัตน์ กรมหลวงอภัยนุชิตได้พระสติจึงเสด็จกลับเข้าไปแล้วพาเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรราชโอรสขึ้นซ่อนในพระวอทรงพระวอเดียวกันออกจากทางประตูฉนวนวัดโคกแสง ให้ไปบวชเป็นพระภิกษุอยู่ ณ วัด(เจ้าพระฯ)นั้น พระพุทธเจ้าอยู่หัว(บรมโกศ)ทรงพระพิโรธเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรเป็นอันมากดำรัสให้ค้นหาตัวในพระราชวังมิได้พบได้แต่พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าชื่นพระองค์เจ้าเกิด ซึ่งร่วมคิดกันนั้น ดำรัสสั่งให้เอาไปสำเร็จโทษเสียด้วยท่อนจันทน์ ดับสูญทั้งสองพระองค์...(*๕)นับเป็นศึกสายเลือดครั้งที่๒.
 
             การบวชครั้งนี้เจ้าพระฯก็ทรงช่วยอนุเคราะห์อย่างสุดกำลังโดยน่าจะเป็นพระอุปัชฌาย์ถวายการทรงผนวชให้ด้วย จึงทำให้เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรมีพระชนม์ชีพอยู่รอดปลอดภัยมาได้ อันเป็นผลดีอย่างยิ่งในงานวรรณกรรมปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาเพราะเป็นพื้นฐานให้เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงใช้เวลาในระหว่างบวชเรียนอยู่กับเจ้าพระฯ ทำการศึกษาเล่าเรียนจนทรงแตกฉานวิชาการประพันธ์ ดังปรากฏอยู่ในผลงาน กาพย์แห่เรือ กาพห์ห่อโคลง ทำนองนิราศประพาสธารทองแดงและธารอโศกที่พระพุทธบาทสระบุรีเป็นต้นเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรต้องบวชอยู่ ๕-๖พรรษา จนถึงจ.ศ. ๑๑๐๓หรือ พ.ศ. ๒๒๘๔ พระราชโกษาบ้านวัดระฆังได้กราบทูลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศขอให้แต่งตั้งเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ'เป็นกรมพระราชวังฯ เมื่อปรึกษาบรรดาเสนาบดีแล้วไม่มีใครคัดค้านพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็โปรดให้เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร(กรมขุนเสนาพิทักษ์)เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช
 
             เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรรอดโทษประหารเมื่อครั้งกรณีเจ้าพระฯมาครั้งหนึ่ง จนได้ดำรงฐานาศักดิ์อุปราชโดยประเพณีแล้ว ก็น่าจะได้สถาปนาเป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อจากพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แต่ชะตาชีวิตของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรก็ไม่ถึงราชบัลลังก์ไม่สามารถเป็นพระมหากษัตริย์ได้ ครั้งนี้พระองค์เปิดศึกสายเลือดครั้งที่.๓ โดยเมื่อ'...ถึงเดือน ๖ ปีกุนสัปตศก(จ.ศ. ๑๑๑๗ พ.ศ. ๒๒๙๘)กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีพระบันทูลให้มาเอาตัวเจ้ากรม ปลัดกรม นายเวรปลัดเวร กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดี(เจ้าสามกรม)มาถามว่า'...เจ้ากรมเป็นแต่หมื่นจัดกันในกรมตั้งขึ้นเป็นขุนแล้วทำสูงกว่าศักดิ์'จึงให้ลงอาชญาโบยหลังคนละ ๑๕ที...(*๖)'

              โดยศึกสายเลือดครั้งนี้กรมพระราชวังบวรฯเปิดศึกกับเจ้าสามกรม แต่ถูกเอาคืน โดยเจ้าสามกรมร่วมกันวางแผนให้กรมหมื่นสุนทรเทพ ทำเรื่องร้องเรียนว่ากรมพระราชวังบวรฯเป็นชู้กับเจ้าฟ้านิ่ม เจ้าฟ้าสังวาล พระสนมเอกในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กระทำชู้กันข้างในพระนครหลายครั้งหลายหน กรมพระราชวังบวรฯถูกพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสั่งนาบพระบาทและทรงต่อว่ากรมพระราชวังบวรฯว่า'...'อ้ายปิ่นกลาโหม คบหากับมารดาเจ้ามิตร เป็นแต่เมียข้าฯ(ทาส) เฆี่ยนถึง ๗๐๐ จนตายกับคา(ขื่อ) นี่มาคบหากับเมียเจ้าทั้งสององค์ แล้วก็เกิดพระราชบุตรด้วย ๓ องค์ ๔ องค์  โทษ๗๐๐ จะแบ่งเป็น ๓ ส่วน ยกเสีย ๒ ส่วน จะให้เฆี่ยนส่วนหนึ่งแต่ ๒๓๐ที จะว่าประการใด'...(*๗)'กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตรัสขอรับพระราชอาชญาตามแต่พระราชบิดาจะทรงพระกรุณาโปรด แต่กรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งอยู่ในที่นั้นด้วยเห็นว่าโทษนั้นหนักนัก จึงทูลขอต่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศว่า '...ขอให้ลงพระราชอาชญา ๖๐ ทีแต่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศตรัสสั่งว่า 'ให้เฆี่ยนยกละ ๓๐ที ไปจนกว่าจะครบ ๒๓๐ทีเมื่อเจ้าพนักงานลงมือเฆี่ยนได้ ๖ ยกรวมเป็น๑๘๐ที กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทนความเจ็บไม่ไหวก็สิ้นพระชนม์ ...(*๘)'หลังจากนั้นพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็มิได้แต่งตั้งผู้ใดเป็นกรมพระราชวังบวรฯ

                 '...ถึงเดือน ๕ ปีฉลูนพศก(จ.ศ.๑๑๑๙พ.ศ.๒๓๐๐)กรมหมื่นเทพพิพิธ เจ้าพระยาอภัยราชา พระยากลาโหม พระยาพระคลัง ร่วมกันกราบทูลต่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศขอให้ตั้งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมขุนพรพินิต(พระเจ้าอุทุมพรหรือขุนหลวงหาวัดเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่กรมขุนพรพินิต(ขุนหลวงหาวัด)เกรงใจพระเชษฐา(กรมขุนอนุรักษ์มนตรี-พระเจ้าเอกทัศน์)จึงกราบบังคมทูลว่า'กรมขุนอนุรักษ์มนตรี(พระเจ้าเอกทัศน์)พระเชษฐา ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นเหมาะสมที่จะเป็นกรมพระราชวังฯมากกว่าพระองค์'พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศดำรัสว่า'...กรมขุนอนุรักษ์มนตรี(พระเจ้าเอกทัศน์)นั้น เป็นวิสัยพระทัยปราศจากความเพียรถ้าจะให้ดำรงฐานาศักดิ์อุปราชสำเร็จราชกิจกึ่งหนึ่ง อีกกึ่งหนึ่งก็จะเกิดวิบัติฉิบหายเสีย เห็นแต่กรมขุนพรพินิต(ขุนหลวงหาวัด)กอบด้วยสติปัญญาฉลาดเฉลียวควรจะดำรงเศวตฉัตรรักษาแผ่นดินได้ จึงพระราชทานฐานาศักดิ์ เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล...(*๙)หลังจากนั้นอีกหนึ่งปีก็เกิดเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลให้กรุงศรีอยุธยาอ่อนแอจนต้องเสียกรุงในที่สุด คือ

                 พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคตเมื่อเดือน๖ แรม๕ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศกเวลา๕โมงเย็น(จ.ศ. ๑๑๒๐ พ.ศ. ๒๓๐๑)เกิดศึกสายเลือดครั้งที่๔ กล่าวคือเมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคตนั้น เชื้อสายของพระองค์แบ่งแยกเป็นก๊กใหญ่ๆสองก๊ก ต่างฝ่ายต่างส้องสุมกำลังไว้เป็นจำนวนมาก ขุนนางเองก็แบ่งแยกเป็นสองฝ่ายตามแต่จะสนับสนุนใคร ก๊กแรกเป็นก๊กของกรมพระราชวังบวรฯ ประกอบด้วยกรมขุนอนุรักษ์มนตรี(สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์)กรมหมื่นเทพพิพิธ เจ้าพระยาอภัยราชา พระยากลาโหม พระยาพระคลังและขุนนางชั้นผู้ใหญ่จำนวนมากเพราะเป็นฝ่ายที่ถูกต้อง ก๊กนี้มีกองบัญชาการที่ตำหนักสวนกระต่าย ของกรมพระราชวังบวรฯ

               ก๊กที่สองเป็นก๊กเจ้าสามกรมประกอบด้วยกรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดี ตั้งกองบัญชาการที่ตำหนักศาลาลวด ทั้งสามกรมส้องสุมผู้คนไว้เงียบๆอยู่ก่อนแล้ว เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคต ต่างฝ่ายต่างช่วงชิงเครื่องราชกกุฏพันตลอดจนพระแสงปืนพระแสงดาบมาถือครองไว้ โดย'...กรมหมื่นเทพพิพิธเชิญพระแสงดาบพระแสงกระบี่ พระแสงง้าวข้างที่เอาไปถวาย ณ พระตำหนักสวนกระต่าย...(*๑๐)ข้างฝ่ายเจ้าสามกรมก็มิได้กริ่งเกรงกลับแสดงเจตนาในอำนาจอย่างเด่นชัดครั้งนั้น'...กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดี เสด็จไปข้างใน เชิญเอาพระแสงบนพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์ไปตำหนักศาลาลวด...(*๑๑)เบื้องต้นกรมหมื่นจิตรสุนทร ยังไม่ทราบเรื่องดีจึงอยู่ร่วมกับกรมหมื่นเทพพิพิธและสั่งให้พระยาอภัยราชาและพระยาคลังคุมทหารปิดประตูวัง จนเมื่อเห็นกรมขุนอนุรักษ์มนตรีเสด็จมาตรัสเรียกให้กรมหมื่นเทพพิพิธไปอัญเชิญหีบพระแสง ณ โรงแสงไปตำหนักสวนกระต่าย กรมหมื่นจิตรสุนทรก็ตกพระทัยและเข้าใจในเหตุการณ์ต่างๆจึงเสด็จคืนไปตำหนักศาลาลวด

                 ครั้นใกล้พลบค่ำกรมพระราชวังบวรฯจึงโปรดให้ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยมาเข้าเฝ้า ณ ศาลาลูกขุนตำหนักสวนกระต่าย ข้างฝ่ายเจ้าสามกรมนอกจากไม่ยอมมาเข้าเฝ้าตามพระบัญชาแล้วยังให้ทหารไปยึดอาวุธของหลวงมาเป็นของฝ่ายตนเพื่อเตรียมพร้อมอีกต่างหาก'...ให้ทหารข้ามกำแพงวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์และกำแพงโรงรถ เข้ามาบรรจบ ณ ตำหนักศาลาลวด ขุนพิพิธภักดีข้าหลวงกรมหมื่นจิตรสุนทร พาคนไปกระทุ้งบานประตูโรงแสงเข้าไปเอาพระแสงมายึดถือไว้เป็นอันมาก...(*๑๒)ต่างฝ่ายต่างเตรียมรบกันขั้นแตกหัก ครั้งนั้นต้องเดือดร้อนพระผู้ใหญ่ในบ้านเมืองด้วยเป็นวันพระแรม ๑๕ ค่ำ พระเทพมุนี พระพุทธโฆษาจารย์ พระธรรมอุดม พระธรรมเจดีย์ พระเทพกวี เข้ามาเตรียมจะถวายพระธรรมเทศนาอยู่ ณ ทิมสงฆ์ กรมพระราชวังบวรฯจึงให้นิมนต์พระผู้ใหญ่เหล่านั้นเข้ามา ณ ตำหนักสวนกระต่ายแล้วอาราธนาให้ช่วยไปเจรจากับฝ่ายเจ้าสามกรม ให้สมัครสมานกัน เจรจาตั้งแต่หนึ่งทุ่มจนถึง๓ยามเศษจึงบรรลุข้อตกลง เจ้าสามกรมจึงมาเฝ้าทำพระสัตย์ถวายทั้งสามองค์ ครั้นเพลาเช้าจึงเสด็จมา ณ พระที่นั่งทรงปืน สรงพระบรมศพ แล้วเชิญเข้าพระโกศ ประทับไว้ที่พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์ตามพระราชประเพณี แต่นั้นมาต่างฝ่ายต่างคุมเชิงกันอยู่

             คุมเชิงกันอยู่.๒๖วัน ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯก็ชิงลงมือก่อน โดยก่อนหน้าขณะคุมเชิงกันอยู่นั้นได้วางแผนให้กรมขุนอนุรักษ์มนตรี(สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ทำทีเหมือนจะเข้าด้วยกับฝ่ายเจ้าสามกรมเพื่อให้ฝ่ายเจ้าสามกรมหนุนขึ้นเป็นกษัตริย์โดยมีข้อตกลงให้ฝ่ายเจ้าสามกรมรับผิดชอบกรมท่าเรียกเก็บภาษีทั้งมวล มีการหารือกันหลายครั้งหลายหน เมื่อฝ่ายเจ้าสามกรมตายใจก็นัดแนะให้มาเข้าเฝ้าตามปกติทั้งสามองค์ในเวลากลางวันแบบเปิดเผยเหมือนมาหารือราชกิจธรรมดาๆทั่วไป จะได้ไม่เป็นที่ผิดสังเกตของทหารฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯและกรมหมื่นเทพพิพิธ แต่ในความเป็นจริงได้มอบให้กรมหมื่นเทพพิพิธจัดวางคนซุ่มไว้ทุกทางแล้ว '...ครั้นถึงวันแรม ๑๑ ค่ำเพลาบ่าย กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดี หลงกลเสด็จขึ้นไปเฝ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี ณ พระตำหนักตึก ขณะนั้นคนที่วางไว้ก็จับกุมเอากรมหมื่นสุนทรเทพไปลงสังขลิก ไว้ ณ หอพระมนเทียรธรรม กุมเอากรมหมื่นเสพภักดีไปพันธนาไว้ ณ ตึกพระคลังสุภรัต จับเอากรมหมื่นจิตรสุนทรไปจำไว้ ณ พระคลังพิเศษ ครั้นแรม ๑๓ ค่ำ จึงให้ประหารด้วยท่อนจันทน์ ณ พระคลังพิเศษทั้งสามองค์ ...(*๑๓)รวมทั้งทหารฝ่ายเจ้าสามกรมทั้งหมดก็ถูกประหารไปสิ้น ฝ่ายข้าราชบริพารที่เป็นสตรีหรือเด็กผู้ชายตลอดจนทรัพย์สมบัติทั้งหลายของฝ่ายเจ้าสามกรมก็ถูกฝ่ายผู้ชนะยึดถือเอาตามอำเภอใจ ศึกสายเลือดครั้งที่๔.นี้ กรุงศรีอยุธยาสูญเสียขุนนางผู้ใหญ่ไปมากมายรวมถึงเชื้อพระวงศ์ชั้นผู้ใหญ่เกือบทั้งหมดด้วย

                อาณาจักรสยามสมควรสงบสุขตั้งแต่หมดศึกสายเลือดครั้งที่๔.แต่อนิจาอีกไม่กี่วันต่อมากลับเกิดศึกสายเลือดครั้งที่๕ครั้งนั้นกรมพระราชวังบวรฯจึงตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเษก ณ พระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาท เมื่อเดือน ๗ ขึ้น ๖ ค่ำ (จ.ศ. ๑๑๒๐ พ.ศ. ๒๓๐๑)ทรงพระนามสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร เสวยราชสมบัติได้๑๐วัน กรมขุนอนุรักษ์มนตรีก็เสด็จไปอยู่ ณ พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ แสดงตนเหมือนเป็นกษัตริย์ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรทนไม่ไหวจึงถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเชษฐาธิราช หลังจากนั้นอีก๑๕วันก็เสด็จออกไปพระผนวชแล้วเสด็จไปจำพรรษา ณ วัดประดู่ทรงธรรม

            กรมหมื่นเทพพิพิธนั้นรู้ตัวว่าเมื่อสิ้นพระเจ้าอุทุมพร ตนเองคงไม่รอดเพราะพระองค์เป็นผู้นำในการถวายคำแนะนำให้พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแต่งตั้งพระเจ้าอุทุมพรเป็นกรมพระราชวังบวรฯ จึงได้เสด็จหนีไปทรงผนวช ณ วัดกระโจม ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์เสวยราชย์สมบัติได้เพียง๗วันก็เริ่มหาเหตุเอากับขุนนางฝ่ายพระเจ้าอุทุมพร โดยอ้างว่า'...มีผู้นำคุยหรหัสคดีมากราบทูลว่าเจ้าพระยาอภัยราชา พระยาเพ็ชรบุรี หมื่นทิพเสนา นายเพ็งจันทร์ คิดกบฎจะเอาราชสมบัติถวายกรมหมื่นเทพพิพิธๆรู้ตัวก็หนีไปจากวัดกระโจม แต่ก็ถูกจับได้ ณ ป่านาเริ่ง เจ้าพระยาอภัยราชา พระยาเพ็ชรบุรี นายจุ้ยนั้น เฆี่ยนแล้วให้จำไว้ หมื่นทิพเสนา นายเพ็งจันทร์ หนีรอดไปได้ แล้วให้ส่งพระกรมกมื่นเทพพิพิธออกไป ณ เกาะลังกาทวีป...(*๑๔)'  สรุปว่าขุนนางผู้ใหญ่สมัยอยุธยาหมดสิ้นมานับแต่นั้น

             ที่จำเป็นต้องอธิบายเหตุการณ์ช่วงนี้โดยละเอียดนั้น เพราะต้องการให้ทุกท่านเข้าใจวิถีชีวิตของผู้คนในยุคสมัยนั้นที่มีแต่การช่วงชิงอำนาจและการฆ่าฟันอันเป็นยุคที่มีแต่ความหวาดระแวงและมีการฆ่าฟันเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินตลอดบรรดาขุนนางมากที่สุดในสมัยอยุธยาอันเป็นช่วงเวลาที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระราชสมภพเมื่อต้นรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งทำให้สามารถอธิบายเรื่องชาติกำเนิดได้เด่นชัดยิ่งขึ้นนั่นเอง

            พระราชพงศาวดารทุกฉบับกล่าวถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระประสูติการเมื่อวันที่๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๒๗๗ ต้นแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แต่หลังจากนั้นอีก๕เดือนมีเหตุการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้นในกรุงศรีอยุธยาคือ'...ครั้นถึง ณ เดือน๑๐ข้างแรมจีนนายก่าย ณ กรุงเทพมหานครและุพรรคพวกประมาณสามร้อยเศษ  คบคิดกันเป็นกบฏเข้ามาในเพลาราตรี จะเข้าปล้นชิงเอาพระราชวังหลวงพระยาเพชรพิชัยและข้าราชการทั้งปวงซึ่งอยู่รักษาพระนครนั้น ชวนกันออกต่อรบฆ่าฟันจีนกบฏป่วยเจ็บล้มตายเป็นอันมาก พวกกบฏจีนจะเข้าพระราชวังมิได้ก็แตกพ่ายหนีไป... ครั้นเพลาสิบเอ็ดทุ่ม วันแรมสิบเอ็ดค่ำ ในเดือน ๑๐นั้น ก็เสด็จโดยทางชลมารคจากเมืองลพบุรีกลับมายังพระมหานครศรีอยุธยา ดำรัสสั่งให้พิจารณาสืบสาวเอาตัวจีนกบฏ จับตัวได้สองร้อยแปดสิบเศษที่เป็นต้นเหตุนั้น สี่สิบคนให้ประหารชีวิตเสีย เหลือนั้นให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนแล้วขังไว้ให้เป็นตะพุนหญ้าช้าง(*๑๕)...' เหตุ'กบฏจีนก่าย'นั้นเป็นเรื่องที่ทราบกันดีทั้งราชอาณาจักรอยธยาสมัยนั้น ชาวจีนในอยุธยาทั้งหมดที่เป็นผู้ชายที่แข็งแรงและเป็นผู้ก่อการจะถูกจับกุมคุมขังและประหารชีวิต ที่เหลือก็ต้องไปเป็นตะพุนหญ้าช้าง

             กรณีกบฎจีนก่ายที่เกิดขึ้นทำให้เป็นไปไม่ได้เลยที่ 'เจัาพระยาจักรี' บ้านโรงฆ้องจะกล้าหาญขนาดเอาลูกคนจีนมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมเพราะโทษฐานก่อกบฎในรัชสมัยนั้นมีสถานเดียวคือประหารชีวิต
            
            ถึงตรงนี้จึงสรุปได้ในเบื้องต้นว่าโอกาสที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะมีพระบิดาเป็นชาวจีนตามหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษนั้นแทบไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เลย เพราะเจ้าพระยาจักรีคงไม่กล้าก่อกบฎนำลูก'จีนกบฎ'มาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมเป็นแน่

รูป พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)


เอกสารไทยที่ระบุถึงพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่ถูกกล่าวถึงและนำมาอ้างอิงมากที่สุดคือพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)แต่พงศาวดารฉบับนี้ก็ถูกแก้ไขโดยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกในปีที่๑๔ที่พระองค์ปราบดาภิเศกเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ครั้งนั้นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเป็นประธานแก้ไขพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)ด้วยพระองค์เองในปี พ.ศ.๒๓๓๘ ดังนี้

'...ตัวอย่างลายมือในต้นฉะบับสมุดไทย

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ ( เจิม )
บาน พะแนก (๑) ศุภมัสดุ ศักราช ๑๑๕๗ ปีเถาะสับตศก ( พ.ศ. ๒๓๓๘ ) สมเด็จพระบรมธรรมิกมหาราชาธิราชพระเจ้าอยู่หัว ผ่านถวัลราชย์ ณ กรุง เทพทวาราวดีศรีอยุธยา เถลิงพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงชำระ พระราชพงศาวดาร
พระราชพงศาวดาร อนึ่งณวัน ๗๒ ค่ำ ปีจออัฐศก ( จ.ศ. ๑๑๒๘ พ.ศ. ๒๓๐๙ ) ขณะเมื่อกรุงเทพมหานครยังมิได้เสียนั้น พระเจ้าอยู่หัวอันมีภินิหารนับในเนื้อหน่อพุทธางกูรเจ้า ตรัสทราบพระญาณว่ากรุงศรีอยุธยาจะเป็น
(๑) พ.ศ. ๒๓๓๘ เป็นปีที่ ๑๔ ในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์

๒(๑) อันตราย แต่เหตุอธิบดีเมืองแลราษฏรมิเป็นธรรม จึงอุตสาหะด้วยกำลังกรุณาแก่สมณพราหมณาจารย์ แลพระบวรพุทธศาสนาจะเสื่อมสูญเสีย จึงชุมนุมพักพวกพลทหารไทยจีนประมาณ ๑,๐๐๐ เศษ สรรพด้วยเครื่องสาตราอาวุธต่าง ๆ แลประกอบด้วยทหารผู้ใหญ่นั้น พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงพิชัยราชา หลวงราชเสนา ขุน อภัยภักดี หมื่นราชเสน่หา แล้วยกออกไปตั้งณวัดพิชัยอันเป็นที่ มงคลมหาสถาน ด้วยเดชพระบรมโพธิสมภาร เทพดาเจ้าอภิบาลรักษาพระพุทธศาสนาส้องสาธุการ บันดาลให้วรรษาการห่าฝนตกลงมาเป็นมหาพิชัยฤกษ์ จำเดิมแต่นั้นมาจึงให้ยกพลพยุหกองทัพออกจากวัดพิชัย ฝ่ากองทัพพะม่าออกมาเป็นเพลาย่ำฆ้องยามเสาร์ ได้รบกันกับพะม่าเป็นสามารถ พะม่ามิอาจจะต่อต้านทานพระบารมีได้ ก็ถอยไป จึงดำเนินด้วยพลทหารมาโดยสวัสดิภาพ ไปตามทางบ้านข้าวเม่าพอบรรลุถึงสำบัณฑิตเพลาเที่ยงคืน 2 ยามเศษ เพลิงเกิดในกรุงเทพฯ
(๑) ฉบับหมายเลข ๒/ไฆ ว่า 'จึงอุตสาหะด้วยกำลังกรุณาแก่สมณพราหมณาจารย์ แลพุทธศาสนาจะเสื่อมสูญ เดิมชื่อจีนเจ้ง ซึ่งเป็นพ่อค้าเกวียน มีความชอบในแผ่นดิน ได้ไปเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอยู่ณเมืองตาก...(*๑)'

                จะเห็นได้ว่าเมื่อเริ่มชำระพระราชพงศาวดารก็มีการเพิ่มเติม()โดยอ้างเอกสารฉบับหมายเลข ๒/ไฆ หรือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาช่วงก่อนเสียกรุง อันเป็นเอกสารสั้นๆช่วงก่อนเสียกรุงหรือถ้าจะระบุให้ชัดก็คือ เป็นเอกสารที่จงใจทำลายพระเกียรติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโดยเฉพาะแถมเป็นเอกสารสั้นๆที่แทบจะหาที่มาที่ไปไม่ได้ เอกสารนั้นระบุชาติกำเนิดสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไว้เพียงว่า เดิมนั้นชื่อ'จีนเจ้ง'มีอาชีพเป็นพ่อค้าเกวียน ทำความดีความชอบจึงได้เป็นเจ้าเมืองตากโดยไม่ระบุด้วยซ้ำว่า'จีนเจ้ง'พ่อค้าเกวียนผู้นี้ทำความชอบอะไรถึงได้เป็นเจ้าเมือง

              การชำระพระราชพงศาวดารดังกล่าว ได้เพิ่มเติมข้อความเพื่อให้สอดรับกับอาชีพพ่อค้าเกวียน จึงได้มีการอ้างถึง'คัมภีร์ธาตุวงศ์'ของมหาโสภิต ที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีตอนที่เสียเมืองพิษณุโลกดังนี้“...ณ วัน๒๖ ค่ำพระราชสงครามเอาหนังสือมหาโสภิตเจ้าอารามวัดใหม่เขียนใส่ใบตาลไปถวายเป็น เนื้อความพุทธทำนายมีในคัมภีร์ธาตุวงศ์ใจความว่าตระกูลเสนาบดีได้เป็นกษัตริย์๔พระองค์ๆสุดนั้นพะม่าจะยกมาย่ำยีกรุงเทพฯเมื่ือกรุงเทพฯเสียแก่พะม่าแล้วยังมีชายพ่อค้าเกวียนจะได้เป็นพระยาครองเมืองทิศใต้กรุงชายชเล ชื่อเมืองบางกอกพระยาองค์นั้นจะสร้างเมืองได้๗ปีในที่สุด๗ปีนั้นพะม่าจะยกมา เพียรพยายามกระทำศึกอยู่๓ปีในพระพุทธศักราช๒๓๒๐ปีจุลศักราช๑๑๓๘พระนครบางกอกจะเสีย แนะนำให้เสด็จขึ้นไปประทับอยู่เมืองลพบุรีอันเป็นที่ประชุมพระบรมธาตุ ข้าศึกศัตรูคิดร้ายมิได้เลย..(*๒)การเพิ่มเติมข้อความนี้ขึ้นมานั้นมีเจตนาเพื่อสนับสนุนหรือให้ความสำคัญในเรื่องพ่อค้าเกวียนที่ได้เพิ่มเติมไว้ก่อนหน้านี้เท่านั้น ทั้งที่ข้อความที่เพิ่มเติมทั้งหมดนี้ไม่ถูกต้องตามประวัติศาสตร์เลย

              โดยเริ่มตั้งแต่ตระกูลเสนาบดีที่ได้เป็นพระมหากษัตริย์๔พระองค์นั้นคือราชวงศ์'ปราสาททอง'เริ่มจาก'พระเจ้าปราสาททอง'เมื่อครั้งเป็น'ออกญากลาโหม'ชิงบัลลังก์มาจาก'สมเด็จพระอาทิตย์วงศ์'(โอรสพระเจ้าทรงธรรมแล้วปราบดาภิเศกเป็นกษัตริย์ นับเป็นต้นราชวงศ์ปราสาททอง องค์ต่อมาคือสมเด็จเจ้าฟ้าชัย ราชโอรสองค์โตของพระเจ้าปราสาททอง ก็ถูกพระเจ้าอาคือพระศรีสุธรรมราชาร่วมกับน้องชายคือเจ้าฟ้านารายณ์ราชกุมาร(สมเด็จพระนารายณ์มหาราช)ยึดอำนาจและพระศรีสุธรรมราชาเป็นกษัตริย์องค์ที่๓โดยมีสมเด็จพระนารายณ์เป็นมหาอุปราช แต่เพราะตัณหาราคะ'พระศรีสุธรรมราชา'ครองราชย์ได้๒เดือนกับ๒๐วันเห็นพระราชกัลยาณีน้องสาวพระนารายณ์ '...ทรงพระรูปศรีวิลาศเลิศนารีก็มีพระทัยเสน่หา จึงให้หาขึ้นไปบนที่ห้องจะร่วมรส สังวาสด้วยพระราชกัลยาณี พระราชกัลยาณีมิได้ขึ้นไปกลับหนีลงมาพระตำหนักแล้วบอกเหตุกับพระสนมๆจึงให้เชิญพระราชกัลยาณีเข้าไว้ในตู้พระสมุดแล้วหามออกมาเสว่าจะเอาพระสมุดไปยัง พระราชวังบวรสถานมงคล นายประตูก็มิได้สงสัย ครั้นไปเถิงพระราชวังบวรสถานมงคลแล้วพระราชกัลยาณีก็ออกจากตู้เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระเชษฐาธิราช(สมเด็จพระนารายณ์)แล้วทรงพระกรรแสงทูลประพฤติเหตุทั้งปวงซึ่งสมเด็จพระเจ้าอาเป็นพาลทุจริต...(*๓)'จึงถูกสมเด็จพระนารายณ์มหาราชปฏิวัติยึดอำนาจสำเร็จโทษและสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ปราบดาภิเศกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่๔ และองค์สุดท้ายของตระกูลขุนนางที่ได้เป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา๔พระองค์ ในราชวงศ์ 'ปราสาททอง'

               แต่ราชวงศ์ที่มีขุนนางได้เป็นกษัตริย์๔พระองค์นี้(ราชวงศ์ปราสาททอง)มิได้เสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า แต่เสียบัลลังก์ให้ขุนนางอีกท่านหนึ่งคือ'พระเพทราชา'ต้นราชวงศ์'บ้านพลูหลวงราชวงศ์นี้มีพระมหากษัตริย์ครองราชย์๖พระองค์และราชวงศ์นี้ต่างหากที่เสียกรุงให้แก่พม่า เริ่มจาก'พระเพทราชา'นายกองช้างคู่พระทัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชรับราชการจนได้ดิบได้ดีเป็นที่'ออกพระเพทราชาโดยในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น พระองค์เจ็บป่วยกระเสาะกระแสะไม่ค่อยได้ออกว่าราชการอำนาจทั้งหมดจะตกอยู่ที่'ออกญาวิชาเยนทร์'ขุนนางต่างชาติที่ฝักใฝ่พระเจ้าหลุยส์ที่๑๔มหาราชของฝรั่งเศสเหิมเกริมขนาดจะให้สมเด็จพระนารายณ์เข้ารีตเป็นคริสเตียน

               ประกอบกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราชไม่มีพระราชโอรสกับสมเด็จพระมเหสีแถมมิได้แต่งตั้งผู้ใดเป็นรัชทายาท เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ฯทรงพระประชารหนัก จึงเกิดชิงไหวชิงพริบกันระหว่าง'ออกพระเพทราชา'หัวหน้าขุนนางไทยที่มี'หลวงสรศักดิ์'(พระเจ้าเสือ)เป็นกำลังสำคัญฝ่ายหนึ่งกับ'ออกญาวิชาเยนทร์'ขุนนางต่างชาติอีกฝ่ายหนึ่ง ปรากฏว่าฝ่ายขุนนางไทยชนะ'ออกพระเพทราชา'จึงยึดอำนาจปราบดาภิเศกเป็นกษัตริย์ เริ่มต้นราชวงศ์'บ้านพลูหลวง'ซึ่งมีกษัตริย์ปกครองทั้งสิ้นรวม๖พระองค์คือพระเพทราชา พระเจ้าเสือ พระเจ้าท้ายสระ พระเจ้าบรมโกศ พระเจ้าอุทุมพร(ขุนหลวงหาวัด)และพระเจ้าเอกทัศน์ เป็นตระกูลขุนนางที่ได้กษัตริย์๖พระองค์ จึงเสียกรุงศรีอยธยาให้แก่พม่า มิใช่ตระกูลขุนนางที่ได้เป็นกษัตริย์๔พระองค์ตามที่คำภีร์กล่าวอ้าง สรุปได้ว่าเหตุการใน'คัมภีร์ธาตุวงศ์'ไม่เป็นความจริงแม้แต่เรื่องเดียวทั้งที่เป็นเอกสารที่แก้ไขในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเหตุการณ์ต่างๆที่อ้างใน'คัมภีร์ธาตุวงศ์'นั้นเกิดขึ้นมาก่อนนานแล้ว คณะผู้แก้ไขกลับไม่ให้ความสำคัญหรือตรวจสอบว่าไม่ถูกต้อง แต่กลับไปให้ความสำคัญคำว่า'พ่อค้าเกวียน'เพียงประโยคเดียว

               ข้อสรุปของแก้ไขพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)ในปีพ.ศ.๒๓๓๘ ที่มีสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นประธานการแก้ไขนั้น มีเจตนาชี้ให้เห็นเป็นสำคัญว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นเดิมชื่อ'จีนเจ้ง'อาชีพเดิมก่อนรับราชการคือ'พ่อค้าเกวียนพอมีความชอบในแผ่นดิน(ไม่รู้ว่าความชอบอะไร)ก็ได้เป็น'เจ้าเมืองตาก'ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องผ่านตำแหน่งอื่นแต่อย่างใด แต่ก็ยังไม่มีข้อความใดที่กล่าวถึงพระราชบิดาที่ชื่อ'ไหฮอง'ที่เป็นนายอากรบ่อนเบี้ยและไม่มีการระบุถึงพระราชมารดาว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นชาวไทยหรือชาวจีน ถึงตรงนี้คงสรุปได้อย่างเป็นทางการว่าเมื่อสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรัชกาลที่๑แห่งราชวงศ์จักรีนั้นพระราชประวัติอย่างเป็นทางการของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีคือเดิมชื่อ'จีนเจ้ง'อาชีพเดิมก่อนรับราชการคือ'พ่อค้าเกวียนรับราชการครั้งแรกในตำแหน่ง'เจ้าเมืองตาก'

              หลังจากนั้นเรื่องราวทางเอกสารหรือหลักฐานเกี่ยวกับชาติกำเนิดของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็เงียบหายไป แต่จะไปปรากฏในเรื่องที่เกี่ยวกับพระราชโอรสที่เกี่ยวเนื่องทั้งสองราชวงศ์คือ'เจ้าฟ้าเหม็น'(กรมขุนกษัตรานุชิต)พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกับเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่พระราชธิดาของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและเป็นพี่สาวร่วมพระราชบิดา-มารดาเดียวกับสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่๒.

                  เหตุเกิดเมื่อรัชกาลที่๒.ขึ้นครองราชย์สมบัติได้ไม่นาน ก็มี'อีกา'คาบเอกสารมาทิ้งที่พระราชวัง อ่านดูได้ความว่า'เจ้าฟ้าเหม็น'และลูกๆของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะก่อการ'กบฏ'จึงโปรดให้ให้รัชกาลที่๓.สมัยเมื่อเป็น'กรมหมื่นเจษฏาบดินทร์'และคณะสอบสวนแล้วเห็นว่ามีความผิดจึงให้ประหาร'เจ้าฟ้าเหม็น'และเชื้อสายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอีก๒พระองค์คือพระองค์เจ้าหญิงสำลีวรรณราชธิดาองค์ที่๒ในเจ้าจอมมารดาอำพัน ธิดาคนเดียวของอุปราชจันทร์เมืองนครศรีธรรมราช พระองค์เจ้าหญิงสำลีวรรณเป็นพระราชชายาสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์พระอนุชาธิราชแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่.๒ทรงเสกสมรสกับสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์แต่ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์(ต้นราชสกุล อิศรเสนา ณ อยุธยา)และพี่ชายแท้ๆคือพระองค์เจ้าชายอรนิกาบรรพบุรุษแห่งสกุลรัตนภาณุ ทั้งหมดถูกสำเร็จโทษวันพุธ เดือน๑๐ขึ้น ๕ค่ำพ.ศ.๒๓๕๒ เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดสำนวน'อีกาคาบข่าว'และรัชกาลที่.๒ โปรดให้เลี้ยงข้าว'อีกา'ในพระบรมมหาราชวังจนตลอดรัชกาล

                หลังจากรัชกาลที่๑.ชำระพงศาวดารเรื่องชาติกำเนิดของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีถูกกล่าวถึงอีกครั้งในรัชสมัยของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่.๔ ซึ่งเป็นยุคล่าอาณานิคม และด้วยความจำเป็นทางการเมืองสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่.๔ได้อธิบายให้บรรดานักล่าอาณานิคมได้ทราบถึงความชอบธรรมในการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกต้นราชวงศ์จักรี ว่าเป็นการ'ปราบยุคเข็ญมิได้เป็นการ'ชิงราชบัลลังก์'โดยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์..พงศาวดารสยามฉบับย่อ(Brief History of Siam)เพื่อพระราชทานให้เซอร์จอห์นเบาว์ริง โดยพระราชนิพนธ์ฉบับนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารThe Chinese Repossitory ฉบับเดือนกรกฎาคมของปีพ.ศ.๒๓๙๔ต่อมาถูกตีพิมพ์ซ้ำอีกในหนังสือ 'The Kingdom and People of Siam'ของเซอร์จอห์น เบาว์ริงโดยทรงอธิบายถึงความไม่ชอบธรรมของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเพราะมีเชื้อสายจีนไว้ดังนี้“...พวกข้าราชการหลายคนจากครั้งกรุงศรีอยุธยาไม่เต็มใจที่จะเข้าเฝ้าถวายตัวต่อพระเจ้าตากทั้งหมดมีใจโอนเอียงไปข้างแม่ทัพผู้พี่และยิ่งกว่านั้นพวกเขาซึ่งมีใจอคติต่อพระเจ้าตากในเรื่องที่ว่าทรงมีเชื้อสายจีนได้พากันมองท่านแม่ทัพผู้พี่ควรมีฐานันดรสูงกว่าพระองค์เสียอีกพวกผู้ดีเก่าเหล่านี้ได้ชุมนุมกันเป็นข้ารับใช้ในเรือนส่วนตัวของท่านแม่ทัพโดยมิให้ผิดสังเกต...(*๔)'

                         หลังจากนั้นทรงระบุไว้อย่างชัดเจนว่าในสมัยกรุงธนบุรีนั้นมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองอยู่สามพระองค์“...So, upon that time, there were three king presented in Siam, viz., Supreme King Phya Tark;King of war,our grandfather,and the latter said King of Northern Siam ” (King of warคือเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกหรือเจ้าพระยาจักรี , King of Northern Siamคือเจ้าพระยาสุรสีห์)...(*๕)และสุดท้ายทรงมีพระราชาธิบายเกี่ยวกับการขึ้นสู่อำนาจของราชวงศ์จักรีของพระองค์ ไว้ดังนี้ “... พระองค์เกิดพระสติฟั่นเฟือนหรือทรงพระพิโรธตรัสว่าทรงเป็นพระพุทธเจ้าฯลฯ แล้วสั่งประหารผู้บริสุทธิ์ไปมากกว่า๑๐,๐๐๐ คน และบีบบังคับขู่เข็ญเอาเงินเข้าพระคลังหลวง โดยที่มิได้เป็นค่าภาษีหรือมีเหตุผลที่ชอบธรรมใดๆ ดังนั้นจึงเกิดการกบฏลุกลามขนานใหญ่ขึ้น จับเอาพระเจ้าแผ่นดินที่เสียพระจริตเอาไว้แล้วส่งคณะไปยังกัมพูชาเพื่ออัญเชิญพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองคือเจ้าแห่งสงครามกับกษัตริย์ตอนเหนือ กลับมาครองราชย์บัลลังก์ประเทศสยามทั้งหมดกับทั้งเมืองขึ้นทั้งปวง...(*๖)

              พงศาวดารสยามฉบับย่อนี้ยังได้อธิบายถึงความชอบธรรมของราชวงศ์จักรีที่สืบสายตระกูลมาจากตระกูลขุนนางเก่าแก่ที่ทำคุณงามความดีไว้มากมายดังนี้.'...ต้นตระกูลผู้เป็นบิดาของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรกและเป็นปู่ของพระราชบิดาในพระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบัน(ตัวข้าพเจ้า-ร.๔)กับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อน(พระ เชษฐาผู้ทรงล่วงไปของข้าพเจ้า-ร.๓)แห่งสยาม เป็นอภิชาตบุตรของตระกูลที่สืบเชื้อสายมาจากเสนาบดีต่างประเทศ(เจ้าพระยาโกษาปาน-สมัยพระนารายณ์)ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ท่านได้ย้ายหลักแหล่งจากอยุธยามาเพื่อความสุขของชีวิตมาตั้งบ้านเรือน ที่สเกตรังเป็นท่าเรือบนลำน้ำสายเล็กอันเป็นสาขาของแม่น้ำใหญ่ตรงรอยต่อ ของราชอาณาจักรสยามตอนเหนือกับตอนใต้ ท่านได้ออกจาก สเกตรังไปยังอยุธยาที่ซึ่งได้รับคำแนะนำให้เข้ารับราชการและได้สมรสกับธิดารูปงามของครอบครัวคหบดีจีนที่ร่ำรวยที่สุดในย่านที่อยู่อาศัยของชาวจีน ภายในกำแพงเมืองตรงมุมด้านตะวันออกเฉียงใต้ของอยุธยา...(*๗)ที่น่าแปลกคือพงศาวดารสยามฉบับย่อนี้กลับระบุชัดว่าพระชนนีของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น'...เป็นธิดารูปงามของครอบครัวคหบดีจีนที่ร่ำรวยที่สุดในย่านการค้าของกรุงศรีอยุธยา...(*๘)นั่นย่อมแสดงว่าขนบธรรมเนียมการสืบสายสกุลในสมัยนั้นเพียงถือเอาสายโลหิตทางบิดาเป็นหลักไม่นับรวมสายโลหิตฝ่ายมารดาเข้าไปด้วยเพราะการมีพระราชมารดาเป็นชาวจีนก็ไม่เป็นอุปสรรคในการเป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือทำให้ขาดความชอบธรรมในการปราบดาภิเศกของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแต่อย่างใด

                  ถึงตรงนี้พระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียังคงมีเพียง เดิมชื่อ'จีนเจ้ง'อาชีพเดิมเป็นพ่อค้าเกวียนรับราชการครั้งแรกในตำแหน่ง'เจ้าเมืองตาก'ไม่มีเอกสารใดที่ระบุถึงพระบิดา'ไหฮอง'และพระมารดา'นกเอี้ยง'ปรากฏให้เห็นแต่อย่างใด

ก.ศ.ร.กุหลาบ กุพระราชประวัติ                

                     เรื่องชาติกำเนิดของ'สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี'นั้นมีครบถ้วนเต็มรูปแบบในรัชสมัยของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๕ ซึ่งเป็นยุคที่การพิมพ์เฟื่องฟูที่สุดจนมีการออกหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยและ หนังสือพิมพ์ที่โด่งดังที่สุดในยุคนั้นชื่อ'สยามประเภท'ของนักเขียนอิง ข้อมูลประวัติศาสตร์คนดังนามปากกา ก.ศ.ร.กุหลาบโดยเริ่มแต่งครั้งแรกเป็นตอนๆลงในหนังสือสยามประเภทเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๒ ในชื่อเรื่องว่า'อภนิหารประจักษ์แห่งพระเจ้ากรุงธนบุรีศรีอยุธยา'ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๓ จึงพิมพ์เป็นเล่มในชื่อเรื่องว่า'หนังสือพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตาก(สิน) ซึ่งต่อมาคือต้นฉบับของหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษที่เราอ้างถึง
                    พระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในหนังสือ'อภินิหารบรรพบุรุษ'ที่ ก.ศ.ร.กุหลาบ เขียนนั้นอ้างว่าคัดลอกมาจาก'ตำรามหามุขมาตยานุกูลวงษ์'ของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช(บุญรอด)เช่นเดียวกับที่อ้างถีงเมื่อครั้งเขียนเรื่องพงศาวดารกรุงสุโขทัยตอนเมื่อจะเสียกรุงแก่กรุง ศรีอยุธยา ที่ตีพิมพ์ในหนังสือสยามประเภท จนเป็นเหตุให้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงสั่งให้ส่งตัว ก.ศ.ร.กุหลาบไปอยู่กับผู้จัดการในโรงเลี้ยงบ้า ๗ วัน แล้วจึงให้ปล่อยตัวไป  แต่ก่อนที่พระพุทธเจ้าหลวงจะส่ง ก.ศ.ร.กุหลาบเข้าโรงพยาบาลบ้านั้น ก.ศ.ร.กุหลาบสร้างเรื่องในการปลอมแปลงเอกสารประวัติศาสตร์ไว้มากมาย จนต่อมาภายหลัง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์เรื่องนี้ไว้เป็นการเฉพาะในนิทานโบราณคดี เรื่องหนังสือหอหลวง
                      พระนิพนธ์เรื่อง หอหลวงนั้นเป็นต้นกำเนิดของคำว่า กุเป็นคำที่กล่าวถึงหนังสือที่ ก.ศ.ร.กุหลาบเขียนว่าหาที่มาของต้นฉบับที่แท้จริงไม่ได้แม้สักเล่มเดียว โดยในการบรรยายเกี่ยวกับการ กุของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ในหนังสือ หอหลวงนั้น เริ่มบรรยายตั้งแต่ ก.ศ.ร.กุหลาบ เริ่มเห็นหนังสือและพงศาวดารฉบับเขียนเป็นครั้งแรกเมื่อ..”พ.ศ. ๒๔๒๔ ปีนั้นมีงานฉลองพระนครครบ ๑๐๐ ปี ในงานนั้นมีการแสดงพิพิธภัณฑ์ ใช้บริเวณท้องสนามหลวงเป็นที่จัดแสดงโดยสร้างเป็นโรงชั่วคราวขึ้นมา ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสชวนพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ตลอดจนคฤหบดี ให้ช่วยจัดสี่งของต่างๆอันเป็นความรู้และความคิดกับทั้งฝีมือช่างของไทยมาตั้งแสดงให้คนดู จัดที่แสดงเป็นห้องๆ ต่อกันไปตามประเภทสิ่งของ ครั้งนั้นกรมหลวงบดินทร์ฯทรงรับแสดงหนังสือไทยฉบับเขียน เอาหนังสือ(สมุด)ในหอหลวงที่มีมาแต่โบราณ มาตั้งแสดงห้องหนึ่ง ก.ศ.ร. กุหลาบ(หนังสือหอหลวงเรียก ก.ส.ร.กุหลาบ) รับอาสาแสดงหนังสือไทยสมัยเมื่อ'แรกพิมพ์'ห้องหนึ่งอยู่ต่อกับห้องของกรมหลวงบดินทร์ฯด้วยเป็นของประเภทเดียวกัน...”(*๑)

                          ในครั้งนั้นสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ไปดูทั้งสองห้องและเริ่มรู้จักตัวก.ศ.ร.กุหลาบในการแสดงนี้และทรงบันทึกประวัติของก.ศ.ร.กุหลาบไว้ในพระนิพนธ์หอหลวงว่า '...กล่าวกันว่า เดิมรับจ้างเป็นเสมียนอยู่ในโรงสีไฟของห้างมากวลด์ จึงเรียกกันว่า'เสมียนกุหลาบ'ทำงานมีผลจนตั้งตัวได้ก็สร้างบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำข้างใต้วัดราชาธิวาสฯ นายกุหลาบเป็นผู้มีอุปนิสัยรักรู้โบราณคดีได้พยายามหาหนังสือฉบับแรกพิมพ์ เช่น หมายประกาศที่พิมพ์เป็นใบปลิว และหนังสือเรื่องต่างๆที่พิมพ์เป็นเล่มสมุดในรัชกาลที่ ๔ รวบรวมไว้ได้มากกว่าผู้อื่น จึงกล้ามารับแสดงหนังสือฉบับพิมพ์ในงานครั้งนั้น...(*๒)'

               ในการจัดแสดงครั้งนั้นก.ศ.ร.กุหลาบ มีโอกาสได้เห็นหนังสือที่กรมหลวงบดินทร์ฯนำมาแสดงพบว่ามีหนังสือเกี่ยวกับโบราณคดีต่างๆที่ตัวไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นอยู่เป็นอันมากและเพราะห้องแสดงอยู่ติดกัน ก.ศ.ร.กุหลาบจึงสามารถเข้าไปดูหนังสือที่กรมหลวงบดินทร์ฯนำมาแสดงได้ทุกวันจนติดใจ และในชั้นต้นนั้นคงเป็นเพราะความใฝ่รู้ของ ก.ศ.ร.กุหลาบๆจึงอยากได้หนังสือเหล่านั้นไปไว้ศึกษาเล่าเรียน จึงใช้วิธี'ประจบ'กรมหลวงบดินทร์ฯตั้งแต่การแสดงที่ท้องสนามหลวงจนงานเลิกแล้วก็ยังตามไปเฝ้า'ประจบ'ที่วังอย่างสม่ำเสมอจนเมื่อมั่นใจว่ากรมหลวงบดินทร์ฯทรงมีพระเมตตาต่อตนเองแล้ว ก.ศ.ร. กุหลาบจึงทูลขอคัดสำเนาหนังสือหอหลวงบางเรื่องแต่กรมหลวงบดินทร์ฯไม่ประทานอนุญาตตรัสว่า '...ว่าหนังสือหอหลวงเป็นของต้องห้ามมิให้ใครคัดลอก...(*๓)'

                ก.ศ.ร.กุหลาบ จนใจหมดหนทางแต่กิเลสมีมากจนลืมผิดชอบชั่วดีไปหมดเลยคิดใชัวิธีการที่ไม่ถูกต้องคือการหลอกลวงกรมหลวงบดินทร์ฯ '...นายกุหลาบจนใจจึงคิดทำกลอุบายทูลขออนุญาตเพียงขอยืมไปอ่านแต่ครั้งละเล่มสมุดไทย และสัญญาว่าพออ่านแล้วจะรีบส่งคืนในวันรุ่งขึ้น กรมหลวงบดินทร์ฯ ไม่ทรงระแวงก็ประทานอนุญาต นายกุหลาบจึงไปว่าจ้างนายทหารมหาดเล็กที่รู้หนังสือเตรียมไว้สองสามคน...(*๔)'

                สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ถึงวิธีการที่ก.ศ.ร.กุหลาบใช้ปฏิบัติตามคำบอกเล่าของทหารมหาดเล็กที่รับจ้างก.ศ.ร.กุหลาบไว้ว่า '...พอ นายกุหลาบได้หนังสือจากวังกรมหลวงบดินทร์ฯ ก็ลงเรือจ้างที่ท่าเตียน ข้ามฟากไปยังวัดอรุณฯ ตามคำพวกทหารมหาดเล็กที่รับจ้างมาเล่าว่า เอาเสื่อผืนยาวปูที่พระระเบียงและเอาสมุดคลี่วางบนเสื่อตลอดเล่ม ให้คนคัดแบ่งกันคัดคนละตอน คัดหน้าต้นแล้วพลิกเอาสมุดหน้าปลายขึ้นคัด พอเวลาบ่ายก็คัดสำเนาให้นายกุหลาบได้หมดทั้งเล่ม...(*๕)โดยที่บรรดามหาดเล็กเหล่านั้นก็ไม่รู้ว่า ก.ศ.ร.กุหลาบได้หนังสือมาจากไหนและจะคัดเอาไปทำไม รู้แต่ว่าให้รีบคัดให้หมดเล่มภายในวันเดียวเมื่อได้ค่าจ้างแล้วก็แล้วกันไปไม่มีใครสนใจเรื่องอื่น แม้แต่สมเด็จกรมพระดำรงราชานุภาพเองเคยได้ยินมหาดเล็กเล่ากันในสมัยนั้นก็ไม่ได้สนใจหรือเอาใจใส่แต่อย่างใด จ้างคัดลอกกันเป็นปีๆก็ไม่มีใครทราบ '...นายกุหลาบลักคัดสำเนาหนังสือหอหลวงด้วยอุบายอย่างนี้มาช้านานเห็นจะกว่าปี จึงได้สำเนาหนังสือต่างๆไปจากหอหลวงมาก แต่ดูเหมือนจะชอบคัดแต่เรื่องเนื่องด้วยโบราณคดี แม้ จนพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ทั้ง ๔ รัชกาล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์แต่ง นายกุหลาบก็ลักคัดสำเนาเอาไปได้...(*๖)'

               แต่หนังสือหอหลวงเป็นหนังสือฉบับหลวงที่ต้องห้าม เมื่อ ก.ศ.ร.กุหลาบได้สำเนาหนังสือไปแล้วหากเก็บไว้ศึกษาคนเดียวไม่เผยแพร่คงไม่เกิดปัญหาใดๆแต่ถ้าจะอ้างอิงหรือเผยแพร่เอกสารนี้หากมีใครจำได้ ก.ศ.ร.กุหลาบก็จะมีความผิดและปัญหาต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้มาซึ่งเอกสารของก.ศ.ร.กุหลาบๆ'...จึงคิดอุบายป้องกันภัยด้วยแก้ไขถ้อยคำสำนวน หรือเพิ่มเติมความแทรกลงในสำเนาที่คัดไว้ให้แปลกจากต้นฉบับเดิม เมื่อเกิดความจะได้อ้างว่าเป็นหนังสือฉบับอื่นต่างหาก มิใช่ฉบับหลวง...(*๗)ทำให้หนังสือต่างๆ ที่ก.ศ.ร.กุหลาบคัดไปจากหอหลวงนั้นเมื่อเอาไปทำเป็นฉบับใหม่ขึ้นนั้นจะมีข้อความที่แทรกเข้าไปใหม่ปนกับต้นฉบับเดิมหมดทุกเรื่อง

                       เหตุการณ์ที่ทำให้ก.ศ.ร.กุหลาบมีชื่อเสียงนั้นเริ่มจาก'...พ.ศ. ๒๔๒๖ นายกุหลาบเอาหนังสือซึ่งลักคัดจากหอหลวงไปดัดแปลงสำนวนเสร็จแล้วเรื่องหนึ่งส่งไปให้หมอสมิธที่บางคอแหลมพิมพ์ นายกุหลาบตั้งชื่อหนังสือเรื่องนั้นว่า'คำให้การขุนหลวงหาวัด คือคำให้การของพระเจ้าอุทุมพรกับข้าราชการไทยที่พม่ากวาดเอาไปเมื่อครั้งเสีย กรุงศรีอยุธยาไปเล่าเรื่องพงศาวดารและขนบธรรมเนียมไทยแก่พม่า พอหนังสือนั้นพิมพ์ออกจำหน่ายใครอ่านก็พากันพิศวง ด้วยฉบับเดิมเป็นหนังสือซ่อนอยู่ในหอหลวงลับลี้ไม่มีใครเคยเห็น และไม่มีใครรู้ว่านายกุหลาบได้มาจากไหน นายกุหลาบก็เริ่มมีชื่อเสียงว่าเป็นผู้รู้โบราณคดีและมีตำรับตำรามาก...(*๘)

                แต่หนังสือเรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัดของ ก.ศ.ร.กุหลาบ นั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงสังเกตเห็นว่ามีข้อความและเนื้อหาที่เป็นปัจจุบันสอดแทรกอยู่เป็นอันมากจึงทรงพระปรารภในพระราชนิพนธ์เรื่อง'พระราชพิธีสิบสองเดือน'ตอนพิธีถือน้ำโดยมีข้อสรุปตำหนิ ก.ศ.ร.กุหลาบกรณีว่า...ผู้ซึ่งทำลายของแท้ให้ปนด้วยของไม่แท้เสียเช่นนั้น ก็เหมือนหนึ่งปล้นลักทรัพย์สมบัติของเราทั้งปวง ซึ่งควรจะได้รับแล้วเอาสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ลงเจือปนเสียจนขาดประโยชน์ไป เป็นที่น่าเสียดายยิ่งนัก ไม่ควรเลยที่ผู้ใดซึ่งรู้สึกตัวว่าเป็นผู้รักหนังสือจะประพฤติเช่นนี้ หนังสือนี้จะคลาดเคลื่อนมาจากแห่งใดก็หาทราบไม่ แต่คงเป็นของที่ไม่บริสุทธิ์ซึ่งเห็นได้ถนัด'ดังนี้...(*๙)'

                แต่ในขณะนั้น ก็ยังไม่มีใครรู้ว่า ก.ศ.ร.กุหลาบเป็นผู้ดัดแปลงสำนวนเพราะไม่มีใครรู้ว่า ก.ศ.ร.กุหลาบได้หนังสือเรื่องนั้นไปจากที่ไหนและต้นฉบับเป็นอย่างไร จนถึงปีพ.ศ. ๒๔๕๔(รัชกาลที่ ๖)สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพดำรงตำแหน่งนายกกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร ได้รับหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัดเป็นสมุดไทยมาอีกฉบับหนึ่ง '...เดิมเป็นของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ เรียกชื่อหนังสือนั้นว่า'พระราชพงศาวดารแปลจากภาษารามัญและมีบานแพนกอยู่ข้างต้นว่า'พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงจัดการแปลหนังสือนั้นเป็นภาษาไทย'ก็เป็นอัน ได้หลักฐานว่านายกุหลาบเอาไปเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ว่า'คำให้การขุนหลวงหาวัด'เอาหนังสือ ๒ ฉบับสอบทานกันก็เห็นได้ว่าแก้ความเดิมเสียมาก สมดังสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชปรารภ...(*๑๐)'

        ขณะเมื่อ ก.ศ.ร.กุหลาบมีชื่อเสียงขึ้นด้วยพิมพ์หนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัดนั้น มีการตั้งกรมโปลิศท้องน้ำขึ้นโดยมีเจ้าพระยานรรัตนราชมานิต(โต)เป็นผู้บัญชาการ เจ้าพระยานรรัตนฯ เห็นว่า ก.ศ.ร.กุหลาบเป็นคนกว้างขวางทางท้องน้ำ และมีความรู้ ผู้คนนับหน้าถือตาจึงเอามาตั้งเป็น'แอดชุแตนท์'(adjutant) หรือนายเวร” ของพระยานรรัตน์ราชมานิต(โต)มียศเทียบเท่านายร้อยเอกก.ศ.ร.กุหลาบจึงได้เข้าเป็นข้าราชการแต่นั้นมา

                        สมัยนั้นหอสมุดพระวชิรญาณเพิ่งเริ่มก่อตั้งก.ศ.ร.กุหลาบ ขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก เจ้านายที่เป็นกรรมการทราบกันแต่ว่าก.ศ.ร.กุหลาบเป็นผู้รักหนังสือ ก็รับเข้าเป็นสมาชิกหอพระสมุดฯตามประสงค์ และเมื่อก.ศ.ร.กุหลาบได้เป็นสมาชิกหอพระสมุดฯ ก็มีใจมอบหนังสือฉบับเขียนเรื่องต่างๆ ที่ได้คัดสำเนาจากหอหลวงเอาไปแปลเป็นฉบับใหม่ เป็นของกำนัลแก่หอพระสมุดฯ หลายเรื่อง กรมพระสมมตอมรพันธ์กับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นกรรมการหอพระสมุดฯไม่เคยเห็นหนังสือในหอหลวงมาแต่ก่อน และไม่รู้ว่าย้ายหนังสือไปเก็บไว้ที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯทั้งสองสมเด็จได้แต่พิจารณาดูหนังสือที่ก.ศ.ร.กุหลาบมอบให้หอพระสมุดฯ เห็นเป็นสำนวนเก่าและใหม่ระคนปนกันหมดทุกเรื่องทรง'...ถามนายกุหลาบว่าได้ต้นฉบับมาจากไหน นายกุหลาบก็อ้างแต่ผู้ตาย เช่น พระยาศรีสุนทรฯ(ฟัก)และกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสเป็นต้นอันจะสอบสวนไม่ได้ จึงเกิดสงสัยว่าที่เป็นสำนวนใหม่นั้นน่าจะเป็นของนายกุหลาบแทรกลงเองจึงมีความเท็จอยู่มาก แต่ตอนนั้นเป็นสำนวนเดิม นายกุหลาบจะได้ต้นฉบับมาจากไหนก็ยังคิดไม่เห็น กรมพระสมมตฯจึงตรัสเรียกหนังสือเหล่านั้นว่า'หนังสือกุ'เพราะจะว่าแท้จริงหรือเท็จไม่ได้ทั้งสองสถาน...(๑๑)

                              ต่อมา พ.ศ.๒๔๓๕ กรมโปลิศท้องน้ำถูกยุบ ก.ศ.ร. กุหลาบ ซึ่งมีอายุเกือบหกสิบปี ก็ต้องออกจากราชการและออกจากสมาชิกหอพระสมุดฯด้วย (แต่คนทั่วไปก็นิยมเรียกกันติดปากว่าแอศชุแตนท์กุหลาบ”) เมื่อออกจากราชการใหม่ๆ ก.ศ.ร.กุหลาบ เข้าทำงานเป็น เอดิเตอร์” (บรรณาธิการ) หนังสือพิมพ์สยามออบเซอร์เวอร์ ของพระยาอรรถการประสิทธิ จนถึงพ.ศ.๒๔๔๐ ก.ศ.ร.กุหลาบได้เริ่มออกวารสาร สยามประเภท ของตนเอง เหมือนอย่างที่หอพระสมุดฯออกหนังสือ'วชิรญาณ'โดยมีชื่อเต็มว่าสยามประเภท สุนทโรวาทพิเศฑและมีรายละเอียดพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไว้ว่า'เป็นสรรพตำราความรู้ฉลาดทางคติธรรมแลคดีโลกย์ มี นาย ก.ศ.ร.กุหลาบ เอดิเตอร์ เป็นผู้เรียบเรียงลงพิมพ์ที่โรงพิมพ์สยามประเภท ถนนเฟื่องนคร กรุงเทพครั้งนั้นสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพอธิบายวิธีการหลอกลวงโดยการตีพิมพ์ของ ก.ศ.ร.กุหลาบไว้ว่า'... โดยเอาเรื่องต่างๆที่คัดไปจากหอหลวงและไปดัดแปลงดังว่านั้นพิมพ์ในหนังสือสยามประเภทและเขียนคำอธิบายปดว่าได้ฉบับมาจากไหนๆ ไปต่างๆ เว้นแต่ที่กรมหลวงบดินทร์ฯนั้นมิได้ออกพระนามให้แพร่งพรายเลย คนทั้งหลายพากันหลงเชื่อก็นับถือ ก.ศ.ร.กุหลาบจึงเรียกกันว่า 'อาจารย์กุหลาบ' ก็มี...(*๑๒)'

         ครั้นเมื่อ ก.ศ.ร.กุหลาบหมดเรื่องที่ได้ไปจากหอหลวง จึงใช้วิธีแต่งเรื่องต่างๆขึ้นเพื่อลงในหนังสือสยามประเภท แล้วก็อ้างว่าเป็นเรื่องจริง แต่ก็ยังไม่มีใครทักท้วงประการใด จนก.ศ.ร.กุหลาบแต่งพงศาวดารกรุงสุโขทัยตอนเมื่อจะเสียกรุงแก่กรุงศรีอยุธยา พิมพ์ในหนังสือสยามประเภทแถมประโคมข่าวเสียใหญ่โตมีแผ่นปลิวแจกไปทั่วมีใจความว่า '...บัดนี้จักขออธิบายถึงเรื่องกำเหนิด ต้นเหตุที่จะบังเกิดชนชาวชาติไทยมีขึ้นในแผ่นดินศยามนี้ ซึ่งจักได้คัดย่อความออกมาจากพระราชพงศาวดารเชียงแสน,เชียงราย,ศุโขทัย,๒๔ ผูก ซึ่งจานลงไว้ในใบลานเปนของโบราณหลายร้อยปี เรียกว่าคัมภีร์พระราชพงศาวดารเชียงแสนเชียงรายศุโขทัย ๒๔ ผูก ต้นฉบับเดิมเปนของท่านเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช(บุญรอด)บ้านปากคลองมอญ กรุงเทพฯภายหลังข้าพเจ้าได้คัดลอกไว้ได้บ้างบางข้อจึ่งได้คัดข้อย่อความจับ เลือกคัดในตอนปลายสุดท้ายในผูกที่๑๙ มีใจความตามพระราชพงศาวดารเชียงแสนเชียงรายศุโขทัยดั่งนี้...(*๑๓)'

       โดยเนื้อความที่ลงพิมพ์นั้นระบุว่า'...เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า'พระปิ่นเกษ' สวรรคตแล้ว พระราชโอรสทรงพระนามว่า 'พระจุลปิ่นเกษ' เสวยราชย์ ไม่มีความสามารถจึงเสียบ้านเมือง...(*๑๔)สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงทอดพระเนตรเห็นทรงตรัสว่า '...เพียงแต่นายกุหลาบเอาความเท็จมาแต่งลวงว่าความจริงก็ไม่ดีอยู่แล้ว ซ้ำบังอาจเอาพระนามพระจอมเกล้าและพระจุลจอมเกล้าไปแปลงเป็น พระปิ่นเกษและพระจุลปิ่นเกษ เทียบเคียงใส่โทษเอาตามใจเกินสิทธิในการแต่งหนังสือ...(*๑๕)สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงโปรดฯให้เจ้าพระยาอภัยราชา(ม.ร.ว.ลภ สุทัศน์)เมื่อครั้งเป็นพระยาอิทราธิบดีสีหราชรองเมืองให้ไปเรียกตัว ก.ศ.ร.กุหลาบมาสั่งให้ส่งต้นฉบับตำราเรื่องพงศาวดารเมืองสุโขทัยที่อ้างว่ามีนั้นมาให้ตรวจ ก.ศ.ร.กุหลาบไม่สามารถหาต้นฉบับมาส่งได้จึงรับสารภาพว่าตัวคิดขึ้นเองทั้งนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงตรัสว่า'...จะลงโทษอย่างจริตผิดปรกติโปรดฯให้ส่งตัวนายกุหลาบไปอยู่กับผู้จัดการในโรงเลี้ยงบ้าสัก๗วันแล้วก็ปล่อยไป...(*๑๖)'
แต่เอาเข้าจริงๆ ก.ศ.ร.กุหลาบต้องอยู่ที่โรงพยาบาลบ้าถึง๓๓วัน

                เหตุการณ์ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จับ ก.ศ.ร.กุหลาบ ส่งโรงพย่บาลบ้า ถือว่าเป็นกรณีที่สำคัญในเรื่องที่ ก.ศ.ร.กุหลาบ 'กุ'พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเพราะในการแต่งอภินิหารบรรพบุรุษนั้น ก.ศ.ร.กุหลาบ อ้างว่าคัดลอกมาจากคัมภีร์ธาตุใจวงษ์ อันเป็นตอนต่อจากพงศาวดาร เชียงแสน เชียงราย ศุโขทัย ของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช(บุญรอด)อันไม่มีอยู่จริง โดยก.ศ.ร.กุหลาบ เริ่มแต่งพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในปัจจุบัน หลังจากเริ่มออกหนังสือพิมพ์ชื่อสยามประเภทในปี พ.ศ.๒๔๔๐ คือเริ่มตีพิมพ์เรื่องราวของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราชเป็นตอนๆภายใต้ชื่อว่าอภินิหารประจักษ์แห่งพระเจ้ากรุงธนบุรีศรีอยุธยาในปีพ.ศ.๒๔๔๒พร้อมๆกับการตีพิมพ์ พงศาวดาร เชียงราย เชียงแสน ศุโขทัย ที่ถูกสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจับส่งโรงพยาบาลบ้า ต่อมาพ.ศ.๒๔๕๓ ก.ศ.ร.กุหลาบ รวบรวมบทความอภินิหารประจักษ์แห่งพระเจ้ากรุงธนบุรีศรีอยุธยาที่ตีพิมพ์เป็นตอนๆ มารวมพิมพ์เป็นเล่มแต่เปลี่ยนชื่อเป็น'หนังสือพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตาก(สิน)ซึ่งต่อมาหนังสือนี้เป็นต้นฉบับของหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจผิดคิดว่าเป็นพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจริง

         นอกจากนั้นพระราชประวัติตามหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษเองก็ก่อให้เกิดข้อกังขาถึงความเป็นไปได้มากมาย อาทิ พระราชประวัติที่บอกว่าเมื่อแรกเกิดวัดส่วนสูงจากสะดือถึงศรีษะจะเท่ากับสะดือถึงฝ่าเท้า อันเป็นพุทธลักษณะ ย่อมเกิดขึ้นจริงไม่ได้เพราะพระองค์เกิดเป็นสามัญชน จะมีชาวบ้านที่ไหนวัดส่วนสูงลูกตัวเองแล้วจดไว้เพราะพ่อแม่คงไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าลูกตนเองเกิดมาเพื่อเป็น'มหาราช'หรือแม้กระทั่งพระราชประวัติเมื่อแรกเกิดได้ ๗ วัน มีงูใหญ่มาขอรอบกระด้งให้เห็นเป็นอัศจรรย์ อย่างน้อยทั้งสองเหตุการณ์ถ้ามีอยู่จริงคงปรากฏในพระราชพงศาวดาร คงไม่ไปปรากฏเฉพาะแต่ในอภินิหารบรรพบุรุษเป็นแน่

         ถึงตรงนี้พระราชประวัติตามหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษเองก็ก็ให้เกิดข้อสงสัยมากมายจนไม่สามารถหาข้อยุติได้ แล้วพระราชประวัติที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร


 หลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ประเทศจีนที่สำคัญนั้นมีสองประเภทคือ
๑.สุสานบรรจุฉลองพระองค์
๒.พระราชพงศาวดารราชวงศ์ชิง(สมัยจักรพรรดิเฉียนหลง)
โดยจะขออธิบายตามลำดับดังนี้

สุสานบรรจุฉลองพระองค์
       เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เมืองจีนที่ระบุว่าบิดาของพระองค์เป็นชาวจีน อยู่ที่อำเภอเถ่งไฮ่ มณฑลกวางตุ้ง 

รูป ซุ้มประตูขนาดใหญ่บริเวณทางเข้าในปัจจุบัน
ตามเอกสารแจกจ่ายประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลท้องถิ่นบรรยายไว้สรุปได้ว่า
                 '...สุสานบรรจุฉลองพระองค์นี้ตั้งอยู่ที่อำเภอเถ่งไฮ่ มณฑลกวางตุ้ง บริเวณแหล่งดูดทรายแห่งหนึ่งในอำเภอเถ่งไฮ่ มีฮวงซุ้ยหรือสุสานเล็กๆ แห่งหนึ่ง ทางเข้าทำเป็นซุ้มขนาดใหญ่ สุสานแห่งนี้เป็นสุสานเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเฉียนหลงฮ่องเต้ (พ.ศ. ๒๒๗๘-๒๓๓๙มีป้ายหินจารึกไว้ว่าสุสานของแต้อ๊วงทำการบูรณะซ่อมแซมใหม่ในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. ๑๙๘๕(พ.ศ.๒๕๒๘...(*๑)

                      “...คนเถ่งไฮ่รู้จักและรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าตากดี เขาเรียกกันว่าแต้อ๊วง’ แปลว่าพระเจ้าแผ่นดินตระกูลแต้ มีเรื่องเล่าว่าเมื่อแต้อ๊วงเกิดพ่อของท่านก็พาท่านกลับมาเรียนภาษาที่เมืองจีน จนอายุได้ ๑๐ ขวบจึงส่งมาอยู่เมืองไทย...(*๒)

                   “...คนเถ่งไฮ่ภูมิใจในแต้อ๊วงมาก ว่าเป็นคนบ้านเราที่มีวาสนาเป็นถึงพระเจ้าแผ่นดินของประเทศไทยและมีความกล้าหาญยิ่ง เสี่ยงชีวิตไปรบกับพม่าเพื่อกอบกู้ชาติไทย...(*๓)

             '...คนเถ่งไฮ่เชื่อกันว่าหลังจากที่พระเจ้าตากสิ้นพระชนม์ได้ไม่นานบรรดาญาติพี่น้องได้นำฉลองพระองค์กลับมายังบ้านเกิดและฝังไว้ที่สุสานแห่งนี้เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ...(*๔)'



รูป สุสานในปัจจุบัน
               บริเวณสุสานยังมีป้ายหินอีกแผ่นจารึกไว้ว่า'สุสานแห่งนี้เป็นที่ฝังฉลองพระองค์ของแต้อ๊วง’ ที่นำมาจากเมืองไทย ห้ามผู้ใดทำลายเด็ดขาด'ลงชื่อโดยรัฐบาลท้องถิ่นแห่งอำเภอเถ่งไฮ่

                       หากเราจะสรุปถึงเนื้อหาของเอกสารนี้จะได้ใจความโดยรวมว่า บิดาของแต้อ๊วง’(สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี)เป็นคนเถ่งไฮ่ ได้อพยพไปอยู่กรุงศรีอยุธยา เมื่อแต้อ๊วงเกิดบิดาท่านก็พาท่านกลับมาเรียนภาษาที่เมืองจีนจนอายุ๑๐ ขวบจึงส่งมาอยู่เมืองไทยแต้อ๊วงมีความกล้าหาญยิ่ง เสี่ยงชีวิตไปรบกับพม่าเพื่อกอบกู้ชาติไทยและมีวาสนาเป็นถึงพระเจ้าแผ่นดินของประเทศไทยหลังจากที่แต้อ๊วงสิ้นพระชนม์ได้ไม่นานบรรดาญาติพี่น้องได้นำฉลองพระองค์กลับมายังบ้านเกิดและฝังไว้ที่สุสานแห่งนี้ ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าเฉียนหลงฮ่องเต้ (พ.ศ. ๒๒๗๘-๒๓๓๙)ซึ่งสอดรับกันดีในเรื่องวันเวลา

      แต่ความจริงคือมีศิลาจารึกแผ่นเล็กๆซึ่งประดิษฐานข้างประตูศาลเจ้าได้จารึกว่าศาลเจ้าแห่งนี้สร้างขึ้นในปีที่๑๑แห่งศักราชสาธารณรัฐจีน(เริ่มนับพ.ศ.๒๔๕๔เป็นปีที่๑.)จึงตรงกับพ.ศ.๒๔๖๕  หลังจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราชสวรรคตไปแล้ว๑๔๐ปี

              อีกทั้งข้อมูลและเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวกับสุสานนี้ล้วนอ้างแต่'คำบอกเล่า'เช่นเล่าว่าแรกเกิดบิดาพากลับมาเรียนภาษาจีนที่บ้านเกิดหรือเล่าว่าหลังจากที่พระเจ้าตากสิ้นพระชนม์ได้ไม่นานบรรดาญาติพี่น้องได้นำฉลองพระองค์กลับมายังบ้านเกิดและฝังไว้ที่สุสานแห่งนี้(ตอนเป็นพระเจ้าแผ่นดินกลับไม่นำไปซึ่งเป็นคำบอกเล่าตามตำนานโดยอ้าง'พระราชพงศาวดารราชวงศ์ชิงในรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง'เป็นเอกสารอ้างอิงนอกนั้นไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานอื่นปรากฏให้เห็นเลยจนถึงปัจจุบัน

              เมื่อตำนานของสุสานบรรจุฉลองพระองค์ที่เมือง เถ่งไฮ้ อ้างว่าสร้างในรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลงจึงต้องขออนุญาตอธิบายเกี่ยวกับพระราชพงศาวดารราชวงศ์ชิง(จักรพรรดิเฉียนหลง)ที่เกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีดังต่อไปนี้

              เริ่มในปี พ.ศ.๒๓๑๐ขณะที่กรุงศรีอยุธยากำลังจะเสียแก่พม่านั้น ทัพเมืองจีนของจักรพรรดิเฉียนหลงก็ไม่สามารถเอาชนะทัพพม่าของพระเจ้ามังระได้ ทำให้จักรพรรดิเฉียนหลงต้องประชุมขุนนางแก้ปัญหานี้อยู่เนืองๆ จนเมื่อถึงเดือน๔ แห่งปีที่๓๒(พ.ศ. ๒๓๑๐)ของรัชกาลเฉียนหลง(กรุงศรีอยุธยาแตกเดือน๕)หยางอิ้งจี้ ข้าหลวงประจำมณฑลยูนนานและกุ้ยโจว ได้กราบบังคมทูลจักรพรรดิเฉียนหลงว่า'...ราชสำนักชิงกับราชสำนักกรุงศรีอยุธยามีความสัมพันธ์อันดีกันตลอดมา หากจักรพรรดิเฉียนหลงร่วมมือกับสยามตีกระหนาบพม่าการศึกก็จะสำเร็จโดยง่าย...(*๕)แต่จักรพรรดิเฉียนหลงไม่เห็นชอบพระองค์เห็นว่า“..การที่จะนัดหมายกับสยามตีกระหนาบพม่านั้นจะเป็นเรื่องไร้สาระน่าขบขัน การทำสงครามโดยอาศัยกำลังจากประเทศราชนอกจากจะไร้ประโยชน์แล้วยังรังแต่จะทำให้ดินแดนในอาณัติเกิดความดูแคลนจึงเป็นเรื่องที่ไม่สมควรกระทำเป็นอันขาด...(*๖)แต่อย่างไรก็ดีจักรพรรดิเฉียนหลง ยังรบติดพันอยู่กับพม่าจึงรับสั่งให้ข้าหลวงประจำมณฑลกวางตุ้งและกว่างซี ชื่อหลี่ซื่อเหยาให้ติดตามสืบเสาะเรื่องราวภายในอาณาจักรสยามอย่างใกล้ชิดแล้วให้รายงานราชสำนักทางปักกิ่งให้ทราบโดยละเอียด

              เมื่อถึงเดือนเก้าของปีที่ ๓๒ (พ.ศ. ๒๓๑๐แห่งรัชกาลเฉียนหลง หลี่ซื่อเหยาได้ข่าวว่าสยามถูก'เผ่าท้องลาย'(หมายถึงพม่า)ตีเมืองแตก กษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยานั้นหายสาบสูญไป เพื่อให้ได้ความจริงทั้งหมดมารายงานจักรพรรดิเฉียนหลง '...หลี่ซื่อเหยาจึงได้มอบหมายให้นายทหารตำแหน่งอิ๋วจี๋ (เทียบเท่าผู้บังคับกองพัน)ชื่อสี่หยวนโดยสารเรือพาณิชย์ไปสยามเพื่อสืบเสาะว่าเท็จจริงว่าเป็นประการใดแต่สี่หยวนกลับเสียชีวิตที่เมืองนครศรีธรรมราชเหลือแต่นายทหารติดตามชื่อม่ายเซินที่ได้เดินทางกลับถึงเมืองกวางโจวเมื่อวันที่๑๑เดือน๗ปีที่๓๓(พ.ศ. ๒๓๑๑)แห่งรัชสมัยเฉียนหลง ขณะเดินทางกลับม่ายเซินได้แวะเมืองเหอเซียน(พุทไธมาศ)ซึ่งมีม่อซื่อหลินพระยาราชาเศรษฐี)เป็นเจ้าเมือง...(๗*)สำหรับม่อซื่อหลินผู้นี้โดยปกติเป็นที่คุ้นเคยกันดีกับหลี่ซื่อเหยาข้าหลวงประจำมณฑลกวางตุ้งและกว่างซีขณะที่ม่ายเซินแวะเมืองเหอเซียน(พุทไธมาศ)เจ้าจุ้ยบุตรเจ้าฟ้าอภัยได้มาอาศัยอยู่กับม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)กำลังสมคบกันคิดการใหญ่อยู่

              ม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)ทราบข่าวจากม่ายเซินว่าจักรพรรดิเฉียนหลงสั่งให้สืบเสาะเรื่องราวภายในอาณาจักรสยามอย่างละเอียด ม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)จึงได้ส่งอำมาตย์ชื่อหลินอี้และม่อหยวนเกามาพร้อมกับม่ายเซินทั้งนี้ได้นำแผนที่ของสยามมาด้วยเพื่อรายงานทุกๆสิ่งของสยามให้หลี่ซื่อเหยาทราบโดยม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)คิดฉวยโอกาสที่สยามมีความยุ่งยากเดือดร้อนหวังเข้ามาชิงความเป็นใหญ่ในสยามโดยการสนับสนุนให้เจ้าจุ้ยเป็นกษัตริย์ปกครองบ้านเมืองเพราะม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)เข้าใจความคิดของราชสำนักชิงที่ยึดมั่นในทำนองคลองธรรมของการสืบทอดราชบัลลังก์จึงต้องการให้รัชทายาทของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาเป็นกษัตริย์สืบต่อกันไป จึงใช้กุศโลบายแสดงตนเป็นผู้สนับสนุนเจ้าจุ้ยให้สืบทอดสันติวงศ์ เพื่อทำให้ราชสำนักชิงวางใจตน

              ในขณะเดียวกันก็ใส่ความสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นเหตุให้ราชสำนักชิงในช่วงแรกไม่ยอมรับรองกรุงธนบุรีและเหินห่างกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเพราะได้ยึดถือข้อมูลของหลี่ซื่อเหยาซึ่งได้สอบถามเรื่องราวต่างๆของสยามอย่างละเอียดถี่ถ้วนจากม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)แล้ว ทำการวิเคราะห์วิจัยประมวลเรื่องราวเป็นเอกสารแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับ สถานการณ์ของสยาม นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายราชสำนัก ณ กรุงปักกิ่ง ราชสำนักชิงจึงได้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับสยามโดยยึดถือตามข้อมูลของหลี่ซื่อเหยาที่ได้ข้อมูลมาจากม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)อีกต่อหนึ่ง

               ต่อมาเมื่อเดือน๑๐ ของปีที่ ๓๓(พ.ศ.๒๓๑๑)จักรพรรดิเฉียนหลงทรงมีความประสงค์จะรบกับพม่าอย่างแตกหักและ ต้องการให้สยามสกัดจับทหารพม่าที่แตกทัพหนีมาทางนั้นแต่ความจริงคือต้องการให้ไทยช่วยตีกระหนาบเพราะจีนไม่เคยรบชนะพม่าจึงต้องการให้ไทยช่วยแต่ได้ใช้ถ้อยคำที่คงศักดิ์ศรีไว้(เฉียนหลงไม่เคยชนะพระเจ้ามังระจึงไม่มีทหารพม่าหลบหนีมาทางไทย)จักรพรรดิเฉินหลงจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้หลี่ซื่อเหยา “...ให้คัดเลือกนายทหารข้าราชบริพารที่ปรีชาสามารถและซื่อสัตย์เดินทางไปเหอเซียน(พุทไธมาศ)โดยด่วนเพื่อสอบถามม่อซื่อหลินถึงสภาพการณ์ที่แท้จริงระยะนี้ของเสียนหลอ(สยาม)ขอให้เขาตอบมาอย่างละเอียดด้วย...(๘*)'

              โดยทรงกำชับให้ดำเนินการโดยด่วนแล้วกราบบังคมทูลเพื่อทราบ เมื่อหลี่ซื่อเหยาได้รับพระบรมราชโองการแล้ว ก็สั่งให้ทหารอาศัยเรือพาณิชย์แล่นไปยังเหอเซียน(พุทไธมาศ)เพื่อสอบถามข้อมูลจากม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)แต่ล่วงมาเพียงเดือนเศษจักรพรรดิเฉียนหลงก็ทรงติดตามสอบถามถึงข่าวคราวของบุคคลที่สั่งให้เดินทางไปสืบหาข่าวหลี่ซื่อเหยากราบบังคมทูลตอบว่า“...จากทางตะวันออกของกวางตุ้งเดินทางไป ณ ที่นั่น เป็นย่านทะเลนอกเขตแคว้นจำต้องคอยถึงลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ในเดือน๓ ปีหน้า เรือจึงจะสามารถแล่นกลับมาได้ ขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดเวลาแน่นอนในการทราบข่าวคราว...(๙*)
          
              ครั้นล่วงมาถึงเดือน๖ ของปีถัดมา ล่วงเลยเวลาที่เรือต้องกลับตามที่หลี่ซื่อเหยากล่าวไว้เป็นเวลาหลายเดือน ก็ยังไม่มีข่าวคราวจากม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)แต่อย่างใด ทำให้จักรพรรดิเฉียนหลงทรงตำหนิหลี่ซื่อเหยาอย่างรุนแรงถึงขนาดมีรับสั่งให้หลี่ซื่อเหยาต้องปรับปรุงแก้ไขการทำงานจนถึงปลายเดือน๖นั้นขุนนางของม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)ก็เดินทางมาโดยเรือถึงกว่างโจวเมื่อวันที่๒๗ เดือน๖ปี๓๔(พ.ศ. ๒๓๑๒)เพื่อแจ้งสภาพการณ์ที่แท้จริงระยะนี้ของเสียนหลอ(สยามแก่หลี่ซื่อเหยาๆจึงนำความที่ได้รับรายงานกราบบังคมทูลจักรพรรดิเฉียนหลง(ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบพม่าพระนายกองได้แล้วตั้งตนเป็นใหญ่ที่ธนบุรีแต่ยังไม่ได้ปราบชุมนุมต่างๆที่เหลืออยู่)
          
              จักรพรรดิเฉียนหลงจึงเริ่มวางแผนตีพม่าในเดือนถัดไปคือเดือน๗ ปี๓๔(พ.ศ. ๒๓๑๒)พร้อมทั้งมีความต้องการให้สยามช่วยสกัดจับทหารพม่าที่แตกทัพหนีมาทางสยาม สภาองคมนตรีแห่งราชวงศ์ชิงได้แต่งหนังสือฉบับหนึ่งและสั่งให้หลี่ซื่อเหยาประทับตราเพื่อถวายกษัตริย์สยามโดยกำชับว่า“...หากสืบทราบแน่ชัดว่า ทายาทของตระกูลเจา(หมายถึงรัชทายาทของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา)ได้รับการสถาปนาสืบทอดราชสมบัติขึ้นมาใหม่ ก็ให้นำส่งทางเรือเดินทะเลโดยด่วน ซึ่งจะอยู่ในช่วงที่ทางมณฑลยูนานเริ่มเดินทัพเข้าโจมตี(พม่า)แต่หากปรากฏว่าพวกกันเอินซื่อ(หมายถึงหัวหน้าเผ่าที่ตั้งตนเป็นใหญ่ไม่ยกย่องทายาทของกษัตริย์เดิม ซึ่งขณะนั้นคือพระเจ้ากรุงธนบุรี)ยังคงแอบอ้างตั้งตนยึดครองซึ่งเป็นความกระหายอันไม่ชอบธรรมแสดงว่าอาณาจักรนั้นยังปราศจากผู้มีอำนาจปกครองโดยชอบธรรม ก็ไม่ต้องส่งมอบให้และนำให้กลับคืนสู่มาตุภูมิ...(๑๐*)'
           
              เมื่อหลีซื่อเหยาได้รับหนังสือที่สภาองคมนตรียกร่างให้เพื่อส่งให้สยามแล้วได้พิจารณาเห็นว่าถึงแม้ว่าทายาทตระกูลเจา(หมายถึงรัชทายาทของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา)ยังมิได้รับการสถาปนาขึ้นมาใหม่ แต่ม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี) ขณะนี้ได้นัดหมายกับหัวหน้าเผ่าชนเมืองต่างๆ แถบชายฝั่งทะเลของเสียนหลอ(สยาม)เตรียมใช้กำลังโจมตีกันเอินซื่อ(หมายถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี)เพื่อยกเจ้าจุ้ยทายาทของกษัตริย์อยุธยาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน หากดำเนินการสำเร็จก็จะขอให้ช่วยสกัดจับโจรพม่าม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)ก็คงจะดำเนินการให้อย่างดีหรือหากม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)ยังไม่พร้อมก็ให้เป็นธุระจัดส่งหนังสือต่อไปกรุงศรีอยุธยาให้แล้วเสร็จ ในการนี้หลี่ซื่อเหยาได้ทำหนังสือในนามของตนเองขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง มอบหมายให้ขุนนางตำแหน่งจั่วอี้เจิ้น(เทียบเท่าผู้บังคับการกองพลพัฒนา)ชื่อ ไช่ฮั่นโดยสารเรือพาณิชย์นำหนังสือดังกล่าวไป ณ เมืองเหอเซียน(พุทไธมาศ)

             ไช่ฮั่นได้รับคำสั่งให้เดินทางตั้งแต่เดือน๗ของปีที่ ๓๔(พ.ศ. ๒๓๑๒แห่งรัชกาลเฉียนหลง แต่เดินทางถึงเหอเซียน(พุทไธมาศ)ในวันที่๒๙ เดือนอ้ายของปีถัดไปใช้เวลาเดินทางถึงครึ่งปีไช่ฮั่นอ้างว่า'...เมื่ออยู่กลางทะเลถูกลมพัดเสากระโดงขาด หางเสือเรือหักจึงเสียเวลาการเดินทาง...(๑๑*)'ต่อมาภายหลังหลี่ซื่อเหยาได้เรียกบรรดาลูกเรือและทหารติดตามมาสอบสวนเป็นความลับ ปรากฏว่าลูกเรือและทหารติดตามได้เบิกความถึงไช่ฮั่นว่า“...มีความหวาดกลัวการท่องทะเลเริ่มตั้งแต่วันที่ออกเดินทางจากกวางตุ้งก็อ้างว่า เกิดลมพายุซึ่งเป็นเท็จเพื่อหาเหตุพัก หลังจากนั้นก็แวะจอดพักตลอดทางแม้กระทั่งขึ้นฝั่งพักแรมชั่วคราวก็มี จึงทำให้เสียเวลา...(๑๒*)'ไช่ฮั่นจึงต้องโทษจำคุก

             ด้านเมืองเหอเซียน(พุทไธมาศ)เมื่อไช่ฮั่นส่งมอบสาสน์ของราชสำนักชิงให้แก่ม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)ๆเห็นว่าต้องนำเรื่องนี้แจ้งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงจะสามารถบรรลุถึงภารกิจในการสกัดจับกุมโจรพม่าแต่เนื่องจากตนเองกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีเรื่องบาดหมางกันเกรงว่าพระองค์จะไม่เชื่อจึงขอให้ไช่ฮั่นมีหนังสือประกอบไปด้วยตนเองรับภาระในการร่างหนังสือให้เมื่อไช่ฮั่นเห็นชอบแล้วก็จัดส่งไป เอกสารนี้จึงเป็นเอกสารราชการฉบับแรกที่มีถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในนามของราชสำนักชิง
      
              ในเรื่องนี้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระราชสาสน์ตอบกลับว่ายินดีช่วย เหลือ โดยที่พระราชสาสน์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้เดินทางไปถึงเมืองจีนในเดือน๘ พ.ศ.๒๓๑๓(ปีที่ ๓๕ แห่งรัชกาลเฉียนหลง)

              ต่อมาเมื่อเดือน๘พ.ศ. ๒๓๑๔(ปีที่๓๖แห่งรัชกาลเฉียนหลง)สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ปฏิบัติตามคำขอโดยการนำส่งเชลยศึกพม่าซึ่งมีชื่อว่า เซี่ยตูเอี้ยนและบุคคลอื่น ๆ ถึงกรุงปักกิ่งและได้ส่งมอบตามคำขอนี้ต่อมาอีกหลายครั้งคือ
พ.ศ. ๒๓๑๕ได้จัดส่งจังจุ่นชิงกับพวก ซึ่งเป็นชาวอำเภอไฮ่เฟิง มณฑลกวางตุ้ง กลับคืนภูมิลำเนา  
พ.ศ.๒๓๑๘ ได้จัดส่งเจ้าเฉิงจังกับพวกจำนวน ๑๙ คน ซึ่งเป็นทหารยูนนานที่ตกเป็นเชลยศึกพม่า
พ.ศ.๒๓๑๙ ได้จัดส่งหยางเฉาพิ่งกับพวก จำนวน ๓ คน ซึ่งเป็นพ่อค้ายูนนานกลับคืนภูมิลำเนา  
พ.ศ. ๒๓๒๐ คุมตัวอ่ายเฮอกับพวกจำนวน ๖ คน ซึ่งเป็นเชลยพม่านำส่งถึงกวางตุ้ง
 
               การที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีส่งมอบเชลยให้แก่จักรพรรดิเฉียนหลงเมื่อเดือน๘พ.ศ. ๒๓๑๔(ปีที่๓๖แห่งรัชกาลเฉียนหลงครั้งนั้นพระเจ้าเฉียนหลงเมื่อได้รับมอบเชลยก็ได้กำชับหลี่ซื่ิอเหยาให้พิจารณาความชอบต่ออาณาจักรสยามดังนี้ว่า'... อย่าได้เฉยเมยเย็นชาเสียทุกกรณี อันจะเป็นการตัดเยื้อใยอย่างสิ้นเชิงกันเลย จึงสมควรใช้ดุลยพินิจในนามของข้าหลวงนั้นเองให้รางวัลเป็นแพรต่วนตามสมควร...(๑๓*)'ต่อมาเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน๑๑ ขึ้น๙ ค่ำ ปีเถาะตรีศก จ.ศ. ๑๑๓๓พ.ศ. ๒๓๑๔)หลังจากส่งมอบเชลยชุดแรกได้สามเดือน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้โปรดให้ยกทัพไปตีกัมพูชาและพุทธไธมาศ

               เมื่อพระเจ้าเฉียนหลงทราบข่าวความขัดแย้งระหว่างสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกับม่อซื่อหลิน จึงมีกระแสรับสั่งว่า'...อันสยามตั้งอยู่ ณ ทะเลอันไกลโพ้น มีระยะทางห่างไกลย่อมจะยากลำบากต่อการใช้กำลัง เมื่อ'กันเอินซื่อ'(พระเจ้ากรุงธนบุรี )ใช้พลังอันดุดัน(ความสามารถในการรบ-ผู้เขียน)เข้าช่วงชิงราชบัลลังก์และเกิดการรบพุ่งแย่งชิงกัน ก็สมควรที่จะถือว่าเป็นเรื่องของนอกแคว้น ถ้าหากว่า'ม่อซื่อหลิน'ซึ่งเป็นเจ้าเมืองเหอเซียน(พุทไธมาศ)มีความประสงค์จะช่วยฟื้นฟูราชบัลลังก์ ก็ชอบที่จะปล่อยให้กระทำการตามกำลังความสามารถตามลำพัง โดยไม่จำเป็นที่จะไปยุ่งเกี่ยวด้วยเลย...(๑๔*)ทำให้การรบระหว่างสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกับม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)เจ้าเมืองพุทไธมาศ จักรพรรดิเฉียนหลงมิได้ส่งทหารมาช่วยเหลือพระยาราชาเศรษฐีและเมืองพุทไธมาศแต่อย่างใด สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงสามารถยึดเมืองพุทธไธมาศได้โดยไม่ยากเย็น

               เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีชัยชนะต่อม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)เจ้าเมืองพุทไธมาศแล้วภายหลังเมื่อม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)เจ้าเมืองพุทไธมาศกลับเข้ามาสวามิภักดิ์ก็โปรดให้ม่อซื่อหลิน(พระยาราชาเศรษฐี)ครองเมืองเมืองพุทไธมาศต่อไป นับแต่นั้นข่าวจากเสียนหลอ(สยาม)ก็ไม่มีไปถึงหลี่ซื่อเหยาอีก และราชอาณาจักรจีนก็ได้มีความสัมพันธ์กับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอย่างใกล้ชิดขึ้น โดยพ.ศ. ๒๓๑๕ได้ปฏิบัติตามคำขอของจักรพรรดิเฉียนหลงเป็นครั้งที่สองโดยได้จัดส่ง'จังจุ่นชิง'กับพวก ซึ่งเป็นชาวอำเภอไฮ่เฟิง มณฑลกวางตุ้ง กลับคืนภูมิลำเนา

              การแสดงไมตรีครั้งที่สองนี้ทำให้จักรพรรดิเฉียนหลงได้เห็นถึงความจริงใจของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีกระแสรับสั่งแก่หลี่ซื่อเหยาว่า'...ภายหน้าหากทางไม่มีผู้ใดมาอีกก็แล้วไปแต่ถ้าหากกันเอินซื่อส่งทูตมาอีกเพื่อขอพระราชทานแต่งตั้งและประสงค์จะมีสัมพันธภาพทางราชบรรณาการ ก็อย่าได้ยืนกรานปฏิเสธเช่นกาลก่อนให้พิจารณาถึงว่าหากเป็นความจริงที่มาอย่างจริงใจ ก็ให้กราบบังคมทูลเพื่อจะได้พระราชทานแต่งตั้ง...(๑๕*)'

                 นับแต่นั้นคือตั้งแต่เดือน ๘ ของปีที่ ๓๗ แห่งรัชกาลเฉียนหลง (พ.ศ. ๒๓๑๕เป็นต้นมา ในเอกสารราชการของราชสำนักชิงได้เปลี่ยนการกล่าวอ้างพระนามของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จากกันเอินซื่อหรือหัวหน้าเผ่าชนอาณาจักรสยาม” เป็นเจิ้งเจา” ซึ่งหมายถึง “กษัตริย์เจิ้งหรือแต้อ๊วงนั่นเอง
 

รูป พระราชสาสน์สุพรรณบัฏและเครื่องภาชนะของพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยา-อยู่ที่ไทเป

              ซึ่งจะเห็นได้ว่าก่อนที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะปฏิบัติตามคำขอโดยการนำส่งเชลยศึกพม่าครั้งแรกและครั้งที่สองนั้นราชสำนักจีนเรียกขานพระองค์ว่ากันเอินซื่อแต่หลังจากส่งมอบเชลยสองครั้งแล้ว  ราชสำนักจีนถึงได้ยอมรับสถานะกษัตริย์ของพระองค์และได้เรียกขานพระองค์ว่า'เจิ้งเจา'นับแต่นั้นจนสิ้นรัชกาล ส่วนราชทินนามที่พระองค์ใช้ติดต่อกับจีนนั้นพระองค์ใช้พระนามว่า'สมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยา'ตั้งแต่ฉบับแรกจนฉบับสุดท้ายไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆเลย

ข้อสรุปจากเมืองจีน

สรุปเอกสาร-หลักฐานจากประเทศจีน
                      หลักฐานเรื่องพระราชประวัติส่วนพระองค์นั้นมีปรากฏเพียงหลักฐานเดียวคือปรากฏในร่างพระราชพงศาวดารราชวงศ์ชิงหัวข้อประวัติเสียนหลอ(สยาม)ที่ต้วน ลีเซิง อ้างถึงในหนังสือ'พลิกต้นตระกูลไทย' กล่าวสรุปถึงเหตุการณ์เมื่อคราวสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯให้จัดส่งคณะทูตบรรณาการเดินทางไปเจริญพระราชไมตรียังราชสำนักจีนในปีพ.ศ.๒๓๒๔“...เมื่อครั้งอาอิ๋วถีเอีย(อยุธยา)กรุงแตกเจิ้งเจา(สมเด็จพระเจ้ากรุง ธนบุรี)ซึ่งเป็นขุนนางเสียนหลออยู่ในระหว่างยกทัพไปรบกับกัมพูชาครั้นเมื่อทราบข่าวกรุงแตกก็นำทัพกลับและทำการรบกับพม่าหลายครั้งหลายคราวรวมเวลาทำสงครามอยู่หลายปีแต่เมื่อพม่าต้องรบกับจีนเจิ้งเจาจึงถือโอกาสที่พม่าอ่อนกำลังเข้าตีจนพม่าแตกพ่ายไปและกู้ชาติได้สำเร็จ เจา(เจิ้งเจา)เป็นชาวจีนกวางตุ้งบิดาทำการค้าขายที่เสียนหลอให้กำเนิดเจา(เจิ้งเจา)ครั้นเมื่อเติบใหญ่ปรากฏว่าเป็นผู้มีความเก่งกาจสามารถจึงได้เข้ารับราชการที่เสียนหลอเมื่อตีทัพพม่าแตกแล้ว ชาวเมืองจึงเห็นพร้อมกันอัญเชิญให้เป็นกษัตริย์ย้ายเมืองหลวงไปตั้งผันกู่(บางกอก)ได้ปราบปรามข้าศึกและให้ความร่มเย็นแก่ราษฎรในการปกครองอาณาจักรจึงมีความมั่นคงเป็นลำดับ เมื่อปีที่  ๔๖(หมายถึงปีที่๔๖ แห่งรัชกาลเฉียนหลงซึ่งตรงกับ  พ.ศ. ๒๓๒๔)(*๑)

       สำหรับร่างพระราชพงศาวดารราชวงศ์ชิง ที่กล่าวถึงพระราชประวัติส่วนพระองค์นั้นมิได้ร่างขึ้นในรัชสมัยของจักรพรรดิเฉียนหลงแต่ร่างหลังจากจักรพรรดิเฉียนหลงทิวงคตนานแล้วมีหลายหมวดมาก เป็นการรวมเรื่องเกี่ยวกับราชวงศ์ชิงทั้งหมดซึ่งมีจักรพรรดิหลายพระองค์(เฉพาะรัชสมัยของ'คังซี'กับ'เฉียนหลง'๒พระองค์ก็ใช้เวลาครองราชย์รวมกันกว่า๑๐๐ปีแล้ว)และได้เริ่มจัดทำหลังจากเริ่มศักราชสาธารณรัฐจีนคือพ.ศ.๒๔๕๔ โดยที่ในปัจจุบันก็ยังไม่สำเร็จเพราะเอกสารส่วนใหญ่จอมพลเจียงไคเช็คขนไปไว้ที่ไต้หวัน นักวิชาการที่รวบรวมร่างพระราชพงศาวดารชิงคงประมวลเอาจากเอกสารจากประเทศไทยในชั้นหลังๆนี้ มิได้รวบรวมจากเอกสารจีนเพราะเอกสารระหว่างจักรพรรดิเฉียนหลงกับอาณาจักรเสียนหลอตั้งแต่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจนถึงสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๔นั้น ยังจัดเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานพระราชวังแห่งชาติไต้หวันตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ฉนั้นร่างพระราชพงศาวดารราชวงศ์ชิงฉบับดังกล่าวนี้ก็คงเป็นแค่'ต้นร่าง'ที่ยังไม่มีตรวจทานแก้ไขให้ถูกต้องแต่อย่างใด 

หลักฐานสำคัญที่ทำให้ทราบได้ทันทีว่าจักรพรรดิเฉียนหลงและเหล่าข้าราชการจีนไม่ทราบพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเลยคือ'พระราชสานส์'ของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่มีไปถึงจักรพรรดิเฉียนหลงตั้งแต่ฉบับแรกที่ผลัดเผ่นดินดังนี้

                        ครั้นเดือน๕ ปีที่๔๗ แห่งรัชศกเฉียนหลง(พ.ศ.๒๓๒๕)พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าให้หลวงอภัยชลทีและขุนภักดีกัลป์ยา อัญเชิญพระราชสาสน์แจ้งข่าวการผลัดแผ่นดินในกรุงสยามไปพระราชทานข้าหลวงมณฑล กวางตุ้งและกวางสีใจความว่า
                     “...เจิ้งหัว(พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก)ประมุขแห่งประเทศเสียนหลอขอถวายบังคม ด้วยเหตุที่ได้จัดส่งเรือมารับราชทูตพร้อมกับถวายรายงานเรื่องพระราชบิดาถึงแก่สิ้นพระชนม์แล้ว ข้าพเจ้ารำลึกถึงด้วยความเสียใจว่าเมื่อปีที่แล้วเจิ้งเจา(สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี)พระราชบิดาอดีตประมุขของประเทศผู้ทรงล่วงลับไปแล้วได้จัดส่งราชทูตเดินทางโดยทะเลมาถวายเครื่องราชบรรณาการแด่ราชสำนักแห่งสรวงสวรรค์ ครั้นถึงฤดูใบไม้ผลิของปีนี้ เรือฟู่กัง(เรือนอกบรรณาการ)เดินทางกลับเสียนหลอโดยมีเจ้าหน้าที่ราชบรรณาการ อันมี(พระยาราชสกุล นายศักดิ์ และนายเวรมหาดเล็ก)พร้อมบุคคลอื่นเป็นผู้นำกลับ

            ด้วยบัญชาของท่านทราบว่าเมื่อคณะถวายเครื่องบรรณาการได้ถึงกวางตุ้งแล้วได้รับความกรุณาจากท่านขุนนางผู้ใหญ่ทั้งหลายนำขึ้นกราบบังคมทูลและจัดการ จัดส่งคณะทูตพร้อมราชบรรณาการและสิ่งของพื้นเมืองไปยังนครหลวง(ปักกิ่ง)อันทำให้ประเทศเล็กอันไกลโพ้น(หมายถึงเสียนหลอหรือสยาม)ได้รับพระบรมมหากรุณาธิคุณจากโอสรแห่งสวรรค์ ทั้งนี้ก็เนื่องมาแต่ท่านขุนนางผู้ใหญ่ทั้งหลายซึ่งเป็นพระคุณอย่างสูง จักต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุดและซื่อสัตย์กตัญญูตลอดไป หากแต่ว่าเสียนหลอเป็นประเทศเล็กบุญน้อยถึงคราวเคราะห์ประสบภัยพิบัติถึงแก่สูญเสียพระราชบิดา เมื่อวันเกิงอิ๋น เดือนยี่ ปีที่๔๗ แห่งรัชเฉียงหลง(วันที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕)

              เจา(สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี)ได้ประชวรสิ้นพระชนม์ในวาระที่ใกล้จะสิ้นพระชนม์ทรงสั่งเสีย'หัว'(เจิ้งหัว-สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ-ผู้เขียน)ขอให้มีความสุขุมรอบคอบอย่าได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงโบราณราชประเพณีและให้ยึดถือผลประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นใหญ่ตลอดทั้งให้เคารพนบน้อมและเชื่อฟังราชสำนักแห่งสวรรค์เป็นสำคัญ

              หลังจากที่พระราชบิดาสิ้นพระชนม์แล้วและ'หัว'(สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ)ได้ทำหน้าที่ปกครองบ้านเมืองดินแดนภายใต้การปกครองจึงสงบเรียบร้อยอยู่รอดปลอดภัย ครั้นเมื่อคำนึงถึงโบราณราชประเพณีว่าเสียนหลอเป็นประเทศในอาณัติจึงสมควรจะได้ถวายรายงานถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น

            บัดนี้ได้จัดให้หลวงอภัย ชลที นำส่งสาสน์ถึงท่าน พร้อมทั้งได้จัดให้นายสมุทรวาณิชนำเรือมารับทูตบรรณาการ(หมายถึงคณะทูตสยามของพระพิชัย)กลับประเทศต่อเมื่อถึงกำหนดวาระการถวายเครื่องราชบรรณาการเจิ้งหัวจักได้เตรียมสิ่งของพื้นเมืองอย่างดีถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการตามประเพณีปฏิบัติอย่างแน่นอน  ทั้งนี้เพื่อหวังให้พระราชบิดาผู้ทรงล่วงลับไปแล้วได้รับผลบุญจากพระมหากรุณาธิคุณ แห่งองค์จักรพรรดิชั่วกัปชั่วกัลป์อันจะทำให้'เจิ้งหัว'สำนึกในพระพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์จักรพรรดิตลอดไปไม่มีที่สิ้นสุด


           
  จึงกราบเรียนมาเพื่อขอความกรุณาจากท่านจงตกหมูอีทั้งสองท่านกราบเรียนมา เมื่อวัน ซินไฮ่  เดือนห้า ปีที่ ๔๗  แห่งรัชศกเฉียนหลง(วันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๕)...(*๒)'

             ทั้งหมดนี้เป็นพระราชสาสน์ที่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีไปถึงจักรพรรดิเฉียนหลง เพื่อคงสถานะทางการฑูตไว้โดยระบุว่าพระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช



รูป พระราชสาสน์คำหับพระพุทธยอดฟ้าฉบับภาษาจีนประทับตราโลโต(ตราแห่งกษัตริย์สยามที่จักรพรรดิเฉียนหลงพระราชทานให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช)แผ่นที่๑ แผ่นที่๒




รูป พระราชสาสน์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่มีไปถึงจักรพรรดิเฉียนหลงขณะยังไม่มีตราโลโตเพื่อเปรียบเทียบ

เมื่อจักรพรรดิเฉียนหลงได้รับรายงานจากข้าหลวงแล้วมีพระราชโองการตอบมาตามที่ปรากฏในจดหมายเหตุ ชิงสือลู่ รัชกาลจักรพรรดิเกาจงแห่งราชวงศ์ชิง บรรพ ๑๑๖๔  จดหมายบันทึกเหตุการณ์เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (เจิ้งหัวจัดส่งคณะทูตเดินทางมาแจ้งข่าวการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (เจิ้งเจาแก่ข้าหลวงมณฑลกวางตุ้งและกวางสีในห้วง พ.ศ.๒๓๒๕ ว่า

            เมื่อวันซินโฉว่ เดือนเก้า ปีที่ ๔๗ แห่งรัชศกเฉียนหลง (วันที่ ๑๓ ตุลาคม  พ.ศ. ๒๓๒๕มีรับสั่งอีกว่าตามที่ชั่งอันกราบบังคมทูลว่า “...ได้รับคำถวายรายงานของเจิ้งหัวแห่งประเทศเสียนหลอเนื่องวาระในที่ใกล้จะสิ้นพระชนม์'เจิ้งเจา'พระราชบิดาของท่านผู้นี้สิ้นพระชนม์ได้รับสั่งให้เขา(หมายถึงเจิ้งหัวหรือสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรับใช้เบื้องพระยุคลบาทราชสำนักแห่งสรวงสวรรค์ เพื่อให้ได้พึ่งบุญวาสนาภายใต้พระบรมโพธิสมภารสืบไปตลอดกาล จึงได้นำส่งสาสน์มาเพื่อถวายรายงานเป็นเฉพาะการ ครั้นเมื่อถึงกำหนดถวายเครื่องราชบรรณาการ ก็จักได้เตรียมสิ่งของพื้นเมืองอย่างดีถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการตาม ประเพณีปฏิบัติฯลฯ นั้น เมื่อปีที่แล้วเจิ้งเจาได้แสดงความจริงใจถวายเครื่องราชบรรณาการอย่างเคารพนบน้อมยิ่ง จึงทรงอนุญาตให้เจิ้งเจาถวายเครื่องราชบรรณาการได้ และทรงพระกรุณาพระราชทานสิ่งของและเลี้ยงรับรองเพื่อเป็นการผูกผูกใจ  

            ครั้งนี้การที่เจิ้งหัวปฏิบัติตามคำสั่งของพระราชบิดาซึ่งสั่งไว้ก่อนสิ้นพระชนม์ มาถวายความจงรักภักดีและความจริงใจเช่นนี้สมควรจะจัดส่งราชทูตมาเป็นการเฉพาะและถวายพระราชสาสน์เพื่อขอให้โปรดเกล้าฯ กลับเพียงแต่จัดส่งขุนนางระดับหัวหน้านำส่งสาสน์เพื่อถวายรายงานเท่านั้นจึงมิอาจอนุญาตตามที่ขอมาอย่างรวบรัดเช่นนี้ได้บัดนี้ได้สั่งให้อำมาตย์จินจีร่างหมายรับสั่งความว่าได้รับทราบคำการบบังคมทูลรายงานแล้วตามที่อ้างว่าเจิ้งเจาพระราชบิดาของท่านประชวรถึงแก่สิ้นพระชนม์ ในวาระที่ใกล้จะสิ้นพระชนม์ได้กำชับเป็นหนักหนาต่อท่านว่าให้ยึดมั่นในการรับ ใช้เบื้องพระยุคลบาทราชสำนักแห่งสรวงสวรรค์เพื่อให้ได้พึ่งบุญวาสนาภายใต้ พระบรมโพธิสมภารสืบไปตลอดกาลเป็นสำคัญ จึงสมควรอย่างยิ่งที่จักต้องถวายรายงาน ครั้นเมื่อถึงกำหนดถวายเครื่องราชบรรณาการก็จักได้เตรียมสิ่งของพื้นเมืองอย่างดีถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการตามประเพณีปฏิบัติ” ฯลฯ นั้น

             เมื่อปีที่แล้วพระราชบิดาของท่านได้แสดงความจริงใจถวายพระราชสาสน์และ สิ่งของเป็นเครื่องบรรณาการอย่างเคารพนบน้อมยิ่ง เมื่อเสนาบดีได้นำความขึ้นการบบังคมทูลให้ทรงทราบแล้วได้รับพระบรมมหากรุณาธิคุณ มีพระบรมราชานุญาตให้เข้าถวายเครื่องราชบรรณาการได้ พร้อมทั้งทรงให้ทูตบรรณาการสมทบกับขบวนขุนนางที่เข้าเฝ้าโดยให้ต่อท้ายขบวนเข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองและเฝ้าชมพระบารมีแห่งองค์จักรพรรดิ รวมทั้งพระราชทานสิ่งของเป็นพิเศษทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้สืบเนื่องมาจากองค์จักรพรรดิทรงพิจารณาเห็นความซื่อสัตย์จริงใจของพระราชบิดาท่าน(หมายถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี)จึงทรงพระราชทานให้เป็นจำนวนมากอันเป็นพระกรุณาล้นพ้นเป็นพิเศษ

             บัดนี้พระราชบิดาท่านได้ประชวรสิ้นพระชนม์ท่านได้สืบทอดราชสมบัติเป็นประมุขและยึดมั่นในคำสั่งสอนของพระราชบิดา มีความประสงค์จะถวายความจงรักภักดีต่อราชสำนักแห่งสรวงสวรรค์อย่างรีบด่วน แสดงให้เห็นถึงความซื่อสัตย์จริงใจและเคารพนบน้อม หากแต่ว่าท่านสมควรจะได้มาถวายพระราชสาสน์ขอบพระทัยในพระกรุณาธิคุณขององค์จักรพรรดิและถวายรายงานอย่างละเอียดชัดเจนเกี่ยวกับความตื้นลึกหนาบางของเรื่องราวที่พระราชบิดาของท่านถึงแก่สิ้นพระชนม์และที่ท่านสืบทอดราชสมบัติ เสนาบดีจึงจะสามารถนำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ได้

             บัดนี้เพียงแต่ได้จัดส่งราชทูตมาถวายรายงานและกล่าวว่าเมื่อถึงกำหนดวาระถวายเครื่องราชบรรณาการก็จักได้เตรียมสิ่งของพื้นเมืองอย่างดีมาถวายเป็นฯเครื่องราชบรรณาการตามประเพณีปฏิบัติฯลฯ นั้น อันประเทศของท่านนั้นตั้งอยู่ที่ดินแดนไกลโพ้นกันดารไม่ทราบดีถึงระบบระเบียบหากแต่ว่าเสนาบดีก็มีตำแหน่งหน้าที่ปกครองราชการส่วนท้องถิ่นภายในเขตอำนาจ สำหรับเรื่องราวกรณีเช่นนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ที่จะนำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ได้ในขณะนี้จึงขอให้ทูตบรรณาการของประเทศท่านรอคอยถึงเวลามีลมเหนือ ก็สามารถแล่นเรือกลับประเทศเมื่อกลับไปถึงแล้วให้เล่าแจ้งแถลงไขถึงการได้เข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองและการที่ได้รับพระราชทานรวมทั้งการได้รับพระกรุณาธิคุณล้นพ้นหลายครั้งหลายครั้งเป็นการพิเศษจากองค์ จักรพรรดิ แล้วท่านคงจะมีความซาบซึ้งมากยิ่งขึ้นหากว่าท่านจะถวายความจงรักภักดี และถวายเครื่องราชบรรณาการอย่างซื่อสัตย์จริงใจรวมทั้งรับตำแหน่งจากการแต่งตั้งของราชสำนักแห่งสรวงสวรรค์ ท่านจำต้องถวายพระราชสาสน์เพื่อขอด้วยตนเองโดยตรง ดังนี้เสนาบดีจึงจะนำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ได้ชี้แจงมาตามเหตุผลดังกล่าว ขอท่านได้รับทราบตามหมายรับสั่งนี้ด้วย

             ขอให้ข้าหลวงดังกล่าวดำเนินการจัดส่ง(หมายรับสั่ง)ตามนั้นไปได้ครั้น ถึงคราวที่เรือราชบรรณาการของประเทศนั้นเข้าเมืองมาแล้วให้งดเว้นการจัดเก็บภาษีสำหรับสินค้าที่เป็นอับเฉาทั้งหมดตามธรรมเนียมปฏิบัติ พร้อมทั้งให้จัดเจ้าหน้าที่ที่เหมาะสมเดินทางไปด้วยเพื่ออำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัย  อันเป็นการแสดงถึงความโอบอ้อมอารี อนึ่งให้นำส่งพระบรมราชโองการนี้เพื่อแจ้งให้รับทราบโดยม้าเร็ว...(*๓)'
 
            พระราชสาสน์ของจักรพรรดิเฉียนหลงนั้นแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงโปรดสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราชมากเป็นพิเศษ และยิ่งชี้ให้เห็นว่าอาณาจักรจีนเมื่อหมดยุค'หลี่ซื่อเหยา'และ'ม่อซือหลิน'(พระยาราชาเศรษฐี)แล้วจะไม่มีข้อมูลใดๆของ'เสียนหลอ'(สยาม)อยู่อีกเลย ขนาดกรุงธนบุรีผลัดแผ่นดินและผู้นำในการผลัดแผ่นดินมีพระราชสาสน์ไปบอกว่าเป็น'ราชโอรส'ของกษัตริย์องค์ก่อนก็ยอมรับและบันทึกตามนั้นมาจนถึงปัจจุบันมิได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างใดทั้งสิ้นก็ยังคงเข้าใจว่าสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราชอยู่เช่นนั้นไม่เปลียนแปลงแล้วจะให้จักรพรรดิเฉียนหลงทราบพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้อย่างไร ฉะนั้นพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่อ้างว่าเขียนขึ้นในรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลงว่ามีพระราชบิดาเป็นชาวจีนนั้นแท้ที่จริงแล้วไม่เคยมีเว้นแต่จะเขียนขึ้นภายหลัง


      สรุปว่าเอกสารและหลักฐานจากประเทศจีนในส่วนที่เป็นพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นไม่มีเรื่องสุสานบรรจุฉลองพระองค์ที่บรรดาพระญาตินำไปฝังไว้หลังจากที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสวรรคตได้ไม่นานนั้นคงเป็นการกล่าวอ้างตามคำร่ำลือเพราะอำเภอเถ่งไฮ้นั้นมีคนแซ่แต้อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจน แต่ตำนานนั้นจะขัดกับหลักความจริงหลายเรื่องอาทิพระญาติทำไมไม่นำฉลองพระองค์ไปสร้างสุสานขณะที่พระองค์เสวยราชย์สมบัติซึ่งย่อมทำได้อย่างง่ายดายกว่า และสุดท้ายเมื่อครั้งผลัดแผ่นดินนั้นไม่มีพระญาติที่ใกล้ชิดที่เป็นชายรอดชีวิตแม้แต่ผู้เดียวนอกจากเจ้านายองค์น้อยๆเท่านั้นส่วนพระญาติที่เป็นสตรีก็ถูกถอดยศและให้อยู่ในเขตพระราชวังจนถึงแก่ชีวิตไปเองจึงไม่น่าจะมีพระญาติสนิทที่สามารถครอบครองฉลองพระองค์ท่านไหนหลงเหลือไปเมืองจีนได้


ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง
             ถึงตรงนี้กล่าวได้ว่าพระราชประวัติพระราชบิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นไม่มีหลักฐานร่วมสมัยปรากฏให้เห็นเลย นอกจากปรากฏขึ้นในชั้นหลังๆเท่านั้นและการเกิดเหตุการณ์'กบฏจีนก่าย'ยิ่งทำให้โอกาส ที่พระราชบิดาจะเป็นชาวจีน ตามที่ ก.ศ.ร.กุหลาบ แต่งหนังสือขายยิ่งลิบหลี่เต็มทน

            แต่มีหนังสือเล่มหนึ่งตีพิมพ์ที่ฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1772 หรือพ.ศ.๒๓๑๔ หลังจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบดาภิเศกได้ไม่นาน หนังสือนี้ใช้เป็นต้นแบบของคนผรั่งเศสยุคนั้นใช้ศึกษาอาณาจักรสยามอย่างละเอียดเพราะต่อมาอีกไม่นานก็จะเป็นยุคเริ่มต้นในการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสพอดี หนังสือนั้นมีชื่อว่าประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาฉบับตุรแปงเขียนโดยนาย'ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง' ชาวฝรั่งเศส โดยรวบรวมเรื่องราวจากบันทึกของบาทหลวงตาชารด์ชาวฝรั่งเศสที่บันทึกต่อๆกันมาโดยมีการบันทึกเหตุการณ์ร่วมสมัยในช่วงกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าเข้ามาทำลายไว้ดังนี้

             '...วันที่ ๒๘เม.ย.ค.ศ.๑๗๖๗(พ.ศ.๒๓๑๐หลังพม่าเข้าเมืองได้๒๑วัน)บ้านเมืองถูกยึดโดยการโจมตีทรัพย์สมบัติในพระราชวังและวัดต่างๆไม่เหลืออะไรเลยนอกจากซากปรักหักพังและเถ้าถ่านพระพุทธรูปถูกนำมาหลอมและทำลายโดยผู้ชนะที่ป่าเถื่อนผู้มีแต่ความโลภเท่านั้น เพื่อเป็นการแก้แค้นในความเสียหายครั้งนี้พวกพม่าได้ถ่ายเทความโกรธแก่เมืองเล็กๆโดยรอบสยาม
      .                   
              พวกพม่าได้ใช้ไฟลนฝ่าเท้าของพวกสยามเพื่อจะให้พวกสยามเปิดเผยที่ซ่อนทรัพย์สินและทำการข่มขืนลูกสาวที่กำลังร่ำไห้ต่อหน้าต่อตาพวกเขา พระสงฆ์ซึ่งถูกสงสัยว่าปิดบังทรัพย์สินจำนวนมากถูกหอกซัดและถูกธนูยิงจนพรุน คนอื่นๆจำนวนมากก็ถูกตีจนตายด้วยกระบองหนัก

             สภาพบ้านเมืองก็เช่นเดียวกับวัดวาอารามซึ่งเต็มไปด้วยซากศพ แม่น้ำต่างๆไหลไม่สะดวกเนื่องจากพวกซากศพกีดกั้นทางน้ำ กลิ่นเหม็นจากสิ่งเหล่านี้ชักจูงพวกแมลงวันมาตอมอันเป็นเหตุให้ยุ่งยากในการล่าถอยของกองทัพ พวกเสนาบดีและพวกคนสนิทถูกจับใส่โซ่ตรวนและถูกกล่าวหากลายเป็นทาสอยู่ในเรือโบราณพระ เจ้าแผ่นดินผู้รู้เห็นในชะตากรรมของข้าราชสำนักพระองค์ได้พยายามที่จะหลบหนี แต่พระองค์ทรงถูกจำได้ และถูกปลงพระชนม์ที่ประตูพระราชวัง

            ขุนหลวงหาวัด(พระเจ้าอุทุมพร)ถูกพรากจากความสงบซึ่งพระองค์ปรารถนาเพื่อหลีกเลี่ยงเรื่องยุ่งยากและถูกนำไปรวมกับพระราชวงศ์ทั้งหมดพวกที่ถูกจับกุมทั้งหมดกลัวถูกทรมานได้สารภาพว่าพวกเขามีทรัพย์สมบัติที่แอบซ่อนอยู่มากมาย เมื่อความโลภของพวกพม่าเป็นที่จุใจแล้วและบ้านเมืองเต็มไปด้วยซากศพและคนที่กำลังจะตายกองทัพผู้มีชัยก็ถอนกลับไปพะโค...(๑*)'

            เหตุการณ์ช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาที่บรรยายไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาฉบับตุรแปงนั้น ถูกนำมาอ้างอิงจากนักวิชาการมาตลอดและได้รับการยอมรับในเรื่องรายละเอียดของเหตุการณ์ว่าถูกต้องแม่นยำกว่าเอกสารทางฝ่ายไทยอาทิการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าเอกท้ศน์ที่ตุรแปงบันทึกว่าถูกปลงพระชนม์ที่ประตูพระราชวัง'ซึ่งตรงกับพงศาวดารพม่า แต่ฝ่ายไทยบอกว่าจับได้ที่ใต้ต้นจิกและสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้ขุดขึ้นมาบำเพ็ญกุศลตามพระราชประเพณีซึ่งเหตุการณ์นี้ พงศาวดารพม่าและประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาฉบับตุรแปงถูกต้อง อีกทั้งการบรรยายเหตุการณ์ช่วงนี้ของตุรแปงก็นับเป็นกรณีศึกษาของนักศึกษาประวัติศาสตร์ทั้งโลกที่ศึกษาเรื่องอาณาจักรสยามช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่๒.จึงสรุปได้ว่าเอกสารนี้เป็นที่ยอมรับกันในกลุ่มนักวิชาการและนักศึกษาประวัติศาสตร์ชนชาติสยามของเหล่าชาวตะวันตกตลอดมา

             หนังสือประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาฉบับตุรแปงฉบับนี้นอกจากจะบันทึกเหตุการณ์ช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาไว้อย่างละเอียดแล้ว ยังได้บันทึกถึงบุคคลท่านหนึ่งซึ่งเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ของชนชาติไทย ไว้ว่า

               '...ประชาชนมุ่งมั่นไปที่พระยาตากขุนนางสยามซึ่งมารดาเป็นชาวจีนท่านเป็นทั้งนักการเมืองและนักรบ ท่านปูทางที่จะไปสู่ความยิ่งใหญ่ของท่านด้วยการเรียกร้องความสงสารและความเห็นใจ ท่านได้รับเลือกเป็นหัวหน้าโดยเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนทั้งหมด ครั้งแรกท่านได้ใช้นามแฝงว่า'ผู้กู้ชาติ'และแอบแฝงความสูงศักดิ์ โดยการใช้เครื่องนุ่งห่มตามปรกติ ท่านปรารถนาที่จะทำตัวเป็นเพียงประชาชนคนหนึ่งเท่านั้น เพื่อที่จะเป็นผู้ปกครองประเทศที่แท้จริงต่อไป...(๒*)'

             ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง คงเป็นเอกสารร่วมสมัยเพียงชิ้นเดียว ที่บันทึกเหตุการณ์ไว้โดยละเอียด ข้อความที่ตุรแปง เขียนถึงพระองค์นั้นถอดชนวนต่างๆได้มากมายเริ่มตั้งแต่สังคมชาวสยามในยุคนั้นนับเอาแต่ฝ่ายบิดาหรือฝ่ายชายเป็นที่ตั้งมารดาเป็นเพียงองค์ประกอบที่ไม่มีความสำคัญเพราะแม้แต่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็มีพระราชมารดาเป็นลูกสาวคหบดีชาวจีนที่ไม่เคยถูกกล่าวถึงในฐานะ'ลูกครึ่งไทย-จีน'แต่อย่างใด อีกทั้งคุณสมบัติที่มีพระราชมารดาเป็นชาวจีนขนานแท้นี้ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการเป็นผู้นำของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเมื่อครั้ง'ผลัดแผ่นดิน'

              แต่หากเป็น'ลูกครึ่ง'พ่อจีนแม่ไทยแลัวทุกอย่างจะเปลี่ยนไปทันที โอกาส ที่จะเป็นผู้นำในขบวนการกู้ชาติจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะในยุคสมัยนั้นผู้คนยังถือยศถาบรรดาศักดิ์ คงไม่มีขุนนางไทยท่านไหนยอมอยู่ใต้บังคับบัญชาของ'ลูกจีน'ตั้งแต่ต้น เพราะในความเป็นจริงในช่วงเวลาที่เสียกรุงนั้นมีเชื้อพระวงศ์ระดับสูงมากคือกรมหมื่นเทพพิพิธก็ตั้งตนเป็นใหญ่รวบรวมผู้คนอยู่อีกก๊กหนึ่งซึ่งหากเทียบกันระหว่างพระยาตาก ขุนนางสยามกับกรมหมื่นเทพพิพิธเชื้อพระวงศ์ ที่'ทรงกรม'นั้น ก็นับว่าห่างไกลกันเกินประมาณ แล้วยิ่งถ้าบอกว่าพระยาตากเป็น ลูกจีนวิ่งเต้นซื้อตำแหน่งเจ้าเมืองด้วยแล้ว ย่อมห่างไกลกันชนิดเกินเอื้อม ไม่มีใครมาสมทบกับพระองค์แน่กรมหมื่นเทพพิพิธย่อมคือความหวังอันสูงสุดที่ผู้คนจะไปสมทบ

              ซึ่งหากย้อนดูเมื่อครั้งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคตและก่อนพระเจ้าอุทุมพรจะขึ้นครองราชย์นั้น เกิดวิกฤต'เจ้าสามกรม'ที่ดูเหมือนจะไม่ยอมให้พระเจ้าอุทุมพรได้ครองราชย์โดยแสดงตนเหมือนจะเอาบัลลังก์กันไว้เองและกรมหมื่นเทพพิพิธผู้นี้คือกำลังสำคัญที่กำจัด'เจ้าสามกรม'จนพระเจ้าอุทุมพรได้ครองราชย์สมบัติแต่พระเจ้าอุทุมพรก็ถูกพระเจ้าเอกทัศน์พี่ชายแท้ๆแสดงตนเป็นเจ้าของบัลลังก์กษัตริย์ จนต้องหนีไปบวชถึง๒หน กระทั่งประชาชนขนานพระนามว่า'ขุนหลวงหาวัด'หลังจากนั้นกรมหมื่นเทพพิพิธก็ถูกพระเจ้าเอกทัศน์'กำจัด'เพราะอยู่ฝ่ายเดียวกันแต่คนละพวกคือเป็นพวกเดียวกับพระเจ้าอุทุมพร จึงต้องบวชและต้องไปจำพรรษาที่ประเทศศรีลังกา จนเมื่อพม่าล้อมกรุงจึงลาสิกขาลงเรือจากศรีลังกามารวบรวมผู้คนอยู่ที่ปราจีนบุรี  
              แม้ว่าก่อนเสียกรุงศรีอยุธยากองทัพของกรมหมื่นเทพพิพิธจะพ่ายแพ้แก่พม่า แต่กรมหมื่นเทพพิพิธยังมีชีวิตอยู่ อีกทั้งหม่อมเจ้าประยงค์ผู้บุตรนั้นเมื่อครั้งชิงเมืองนครราชสีมาก็ได้แสดงความสามารถให้เห็นมาแล้ว เหตุการณ์ก่อนจะเสียกรุงศรีอยุธยานั้น ประชาชนทนไม่ไหวกับความอ่อนแอของพระ เจ้าเอกทัศน์จนต้องเขียนหนังสือใส่บาตรให้พระเจ้าอุทุมพรลาสิกขา มาช่วยแก้สถานะการณ์ย่อมแสดงว่าผู้คนกรุงศรีอยุธยาเป็นปรปักษ์กับพระเจ้าเอกทัศน์อย่างชัดเจน เมื่อพระเจ้าเอกทัศน์เป็นเหตุให้พระเจ้าอุทุมพรต้องบวชจนเสียกรุงศรีอยุธยา กรมหมื่นเทพพิพิธในฐานะที่พวกเดียวกับพระเจ้าอุทุมพรและเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้พระเจ้าอุทุมพรได้ครองราชย์ย่อมต้องได้รับความชอบธรรมหรือเป็นความหวังไปโดยปริยาย บรรดาเจ้านายและขุนนางควรจะพากันอพยพไปสมทบด้วยเพราะถือว่าเป็นความหวังสูงสุดของระบบศักดินา แต่กรมหมื่นเทพพิพิธกลับไม่ได้รับความไว้วางใจจากเชื้อพระวงศ์และขุนนางเท่าที่ควรเห็นได้จาก'...เมื่อกรุงเสียแล้วนั้นพวกข้าราชการและเชื้อวงศ์ผู้ดี ณ กรุง หนีขึ้นไปอยู่กับพระเจ้าพิมายเป็นอันมาก จึงโปรดตั้งให้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยตามสมควรแก่คุณานุรูป แต่ยังหาครบตามตำแหน่งไม่...(๓*)'

            ในทางกลับกัน'พระยาตาก ขุนนางสยาม'กลับได้รับความไว้วางใจมากกว่า เพราะมีเชื้อพระวงศ์ไปสมทบตลอดเวลาดังนี้'...อนึ่งพระองค์เจ้าทับทิม(เจ้าครอกจันทบุรี)บุตรีสมเด็จพระอัยยกานั้นพวกข้าไทยพาหนีออกไป ณ เมืองจันทบุรีเจ้าตากก็สงเคราะห์รับเลี้ยงดูไว้.....และนายสุดจินดามหาดเล็กนั้นหนีออกไปพำนักอยู่ ณ เมืองชลบุรีครั้นรู้ข่าวว่าเจ้าตากออกไปตั้งอยู่ ณ เมืองจันทบุรี จึงพาพรรคพวกบ่าวไพร่เดินบกออกไปเข้าพึ่งอยู่ด้วยเจ้าตาก เจ้าตากก็รับไว้ชุบเลี้ยงตั้งเป็นพระมหามนตรีเพราะรู้จักคุ้นเคยกันมาแต่ก่อนกรุงยังไม่เสีย...(๔*)แสดงว่า'พระยาตาก ขุนนางสยาม'คือผู้ที่ถูกเลือกจากเหล่าเชื้อพระวงศ์และลูกหลานผู้ดีแห่งกรุงศรีอยุธยาที่จะไปสมทบด้วยตั้งแต่รวบรวมผู้คนอยู่ที่เมืองจันทบุรี ย่อมพิสูจน์คำพูดของตูรแปงที่ว่า'ประชาชนมุ่งมั่นไปที่พระยาตาก ขุนนางสยามซึ่งมารดาเป็นชาวจีนท่านเป็นทั้งนักการเมืองและนักรบ........ และแอบแฝงความสูงศักดิ์ โดยการใช้เครื่องนุ่งห่มตามปรกติ ท่านปรารถนาที่จะทำตัวเป็นเพียงประชาชนคนหนึ่งเท่านั้นเพื่อที่จะเป็นผู้ปกครองประเทศที่แท้จริงต่อไป'

              แต่ความสูงศักดิ์ที่แอบแฝงไว้ ตามคำบรรยายของตุรแปงนั้น อาจเป็นเพียงความสูงศักดิ์ตามสายตาของบุคคลทั่วไปหรือคนนอกอย่างตุรแปงเท่านั้น และคงไม่ได้ใกล้เคียงกับความสูงศักดิ์ของกรมหมื่นเทพพิพิธหัวหน้าชุมนุม'เจ้าพิมาย'เพราะเมื่อถึงคราวที่ชุมนุม'เจ้าพิมาย'พ่ายแพ้ต่อกองทัพกรุงธนบุรีนั้น กรมหมื่นเทพพิพิธถึงกับทำใจไม่ได้จนแสดงอาการ'กระด้างกระเดื่อง'ออกมาให้เห็นจนสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระพิโรธ'...แล้วเสด็จเลิกทัพหลวงกลับยังกรุงธนบุรี จึงให้เอาตัวกรมหมื่นเทพพิพิธเข้ามาหน้าพระที่นั่งและกรมหมื่นเทพพิพิธถือตัวอยู่มิได้ถวายบังคม จึงดำรัสว่าตัวเจ้าบุญวาสนาบารมีหามิได้ไปอยู่ที่ใดก็พาพวกผู้คนที่นับถือพลอยพินาศฉิบหายที่นั้น ครั้นจะเลี้ยงเจ้าไว้ก็จะพาคนที่หลงเชื่อถือบุญพลอยล้มตายเสียด้วยอีก เจ้าอย่าอยู่เลยจงตายเสียครั้งนี้ทีเดียวเถิด อย่าให้เกิดจลาจลในแผ่นดินสืบไปข้างหน้าอีกเลย แล้วดำรัสสั่งให้เอาตัวกรมหมื่นเทพพิพิธไปประหารชีวิตเสีย...(๕*)ซึ่งการถือยศถือศักดิ์ของกรมหมื่นเทพพิพิธนั้นดูแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับเมื่อครั้งรบแพ้หลวงแพ่งน้องพระยานครราชสีมาเพราะในคราวนั้นบรรดาลูกชายที่อยู่ในวัยหนุ่มถูกประหารหมดและลูกสาวตลอดจนนางห้าม ก็ถูกนำไปเป็นภรรยาฝ่ายผู้ชนะ กรมหมื่นเทพพิพิธกลับมิได้แสดงเลือดขัติยะออกมาให้เห็นแต่อย่างใด หรืออาจเป็นเพราะความสูงศักดิ์ที่พระยาตาก ขุนนางอยุธยา แอบแฝงไว้นั้นคงไม่สูงศักดิ์พอที่จะทำให้กรมหมื่นเทพพิพิธทำใจยอมรับได้เมื่อเทียบกับ'กรมหมื่น'อย่างท่าน 


รูป พื้นที่อาณาเขตสยามเมื่อครั้งสมัยพระเจ้าตากปกครอง

              หนังสือประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง ที่ตีพิมพ์ที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๔ นี้จึงเป็นเอกสารร่วมสมัยเพียงชิ้นเดียวที่ตีพิมพ์ในขณะที่พระองค์ปราบดาภิเศกได้๔ปีและครองราชย์สมบัติหลังจากตีพิมพ์อีก๑๐ปีซึ่งหมายถึงตีพิมพ์ในรัชสมัยของพระองค์ อีกทั้งเป็นเอกสารการบันทึกโดยชาวต่างชาติที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองไทยย่อมน่าจะเชื่อถือได้มากที่สุด ถึงตรงนี้พี่น้องคนไทยทั้งหลายควรจะทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมี'พระราชมารดาเป็นชาวจีน'มิใช่พระราชบิดา

ขอบคุณข้อความดีๆจาก นายภีมเดช อมรสุคนธ์ (ทนายอ๊อด-ระยอง) เเละข้อมูลต่างที่รวบรวมจากผู้ประสงค์ดีที่ต้องการเผยเเผ่ พระเกรียติของบูรพกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของไทยพระองค์หนึ่ง 
ระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

1 ความคิดเห็น:

  1. Borgata Hotel Casino & Spa - Trip.com
    The Borgata Hotel Casino & 창원 출장안마 Spa in Atlantic City is a luxurious five-star hotel located in Atlantic City, 경상남도 출장마사지 NJ and boasts luxurious 목포 출장샵 accommodation. There 진주 출장샵 are 부천 출장샵 10 restaurants, a  Rating: 4 · ‎8 reviews

    ตอบลบ